เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"สาธารณสุขจังหวัดตรัง" เผย! ปริมาณหมอกควันยังไม่ถึงขั้นอันตราย แต่มีแนวโน้มสูงขึ้น


10 ก.ย. 2562, 16:40



"สาธารณสุขจังหวัดตรัง"  เผย! ปริมาณหมอกควันยังไม่ถึงขั้นอันตราย แต่มีแนวโน้มสูงขึ้น




เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดตรัง ที่ท้องฟ้าขมุกขมัว มีลักษณะคล้ายกลุ่มหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาปกคลุม  เป็นเรื่องปกติของทุกปีในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ที่เกิดหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย พัดเข้ามาปกคลุมหลายจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งในทะเล เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเข้ามาในทิศทางนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะประสบปัญหามากกว่า 

โดยในปีนี้ อ.หาดใหญ่ ประสบปัญหามากที่สุด แต่ในส่วนของจังหวัดตรัง เคยประสบปัญหาหนักในปี 2558  ซึ่งภาคใต้มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ จ.สุราษฎร์ธานี จ.สตูล และ จ.สงขลา  แต่ในส่วนของจังหวัดตรังในปีนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ส่งรถโมบายเคลื่อนที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศมาติดตั้งที่จังหวัดตรัง ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมเวลากว่า 1 เดือนแล้ว เพื่อรองรับกับสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้น  โดยติดตั้งไว้ที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง

ทั้งนี้ ได้มีการรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจังหวัดตรัง มาให้สาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้รับทราบทุกวัน  พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี แต่อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มสูงขึ้นมากผิดปกติ  โดยในวันที่ 8กันยายนที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก หรือขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ปริมาณ 35PPM. ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้  แต่หากเกิน 50 PPM. อาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในกลุ่มที่มีสุขภาพอ่อนแอ ขณะเดียวกันทัศนวิสัยการมองเห็นลดลงเหลือในระยะ 4 กม.เท่านั้น  ซึ่งถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติทัศนวิสัยสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล 10 กม.  แต่โชคดีเมื่อวานนี้ (9 ก.ย.) ได้เกิดฝนตกลงมา ทำให้สภาพอากาศดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด  ขณะที่ทางรถโมบายเคลื่อนที่จะยังอยู่ตรวจวัดคุณภาพอากาศในจังหวัดตรัง ตลอดช่วงฤดูหมอกควันของปีนี้



โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้เตรียมหน้ากากอนามัยไว้แล้ว จำนวน 12,000 ชิ้น พร้อมสนับสนุนให้สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคประจำตัวต่างๆ ได้แก่ ภูมิแพ้อากาศ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ  ทั้งนี้ หากคุณภาพแย่ลง แนะนำให้ประชาชนงดออกกำลังกาย หรือทำงานที่ใช้กำลังกลางแจ้ง หรือหากจำเป็นควรใช้หน้ากากอนามัยป้องกัน  โดยหน้ากากที่ดีควรกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ เช่น รุ่นมาตรฐาน N 95 หรือสูงกว่า


 

 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.