เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ "บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เปิดงาน GCNT


11 ต.ค. 2564, 14:33



นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ "บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เปิดงาน GCNT




วันนี้ ( 11 ต.ค.64 ) เวลา 9.00 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน  Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Leadership for Climate Actions)” ผ่านระบบการประชุมทางไกล  โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิก GCNT 74 องค์กรในประเทศไทยจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน ภายหลังเสร็จสิ้น นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ที่ผ่านมายังได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสให้กับเลขาธิการสหประชาชาติด้วยตนเองเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเวทีสหประชาชาติได้ใช้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีสเป็นแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าบางประเภทแล้ว อาทิ กรณีการต่อต้านน้ำมันปาล์มที่ผลิตในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสหภาพยุโรป (อียู) และปัจจุบัน อียูอยู่ระหว่างร่างระเบียบมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ ในอนาคต ขณะเดียวกัน เริ่มมีกระแสในสหรัฐฯ และแคนาดาที่อาจพิจารณาใช้มาตรการในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นโอกาสที่ไทยจะ “พลิกโฉมประเทศ” สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า เน้นการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจ และจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด ทั้งนี้ไทยต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากกองทุนระหว่างประเทศ และประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ และโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้ประโยชน์จากโครงการกลไกเครดิตร่วม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2558 และกำลังพิจารณาขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่น ๆ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์



นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องปรับตัว แม้การปรับตัวจะมีค่าใช้จ่าย แต่การไม่ปรับตัวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าในระยะยาวซึ่งภาคเอกชนไทยหลายบริษัทเริ่มปรับตัวแล้ว โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำซึ่งกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วย ได้บรรจุประเด็น climate change ในนโยบายระดับประเทศ ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีหมุดหมายที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 10 การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็น 2 หมุดหมายที่ตอบสนองต่อประเด็น climate change โดยตรง ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2565 และขอเชิญชวนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ รวมทั้งการริเริ่มโครงการอื่น ๆ ที่มุ่งใช้จุดแข็งในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรธรรมชาติของไทยและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปรับตัวตามทิศทางบรรทัดฐานใหม่ ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทำความเย็นในการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนที่ทำลายชั้นบรรยากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยตั้งเป้าที่จะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578


นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การติดตามประเมินการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปรับตัวและก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเชื่อมั่นภาคเอกชนไทยมีบทบาทอย่างมากในการเป็นผู้นำเพื่อแก้ปัญหา climate change และสิ่งแวดล้อม
 
ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพและเป็นสักขีพยายานกับผู้เข้าร่วมประชุมในการประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา climate change อย่างยั่งยืน ของสมาชิก GCNT -Global Compact Network Thailand
 
อนึ่ง UN Global Compact คือ กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติเพื่อขยายความร่วมมือจากบริษัท ทุกภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร และสมาชิกอื่นๆที่ไม่อยู่ในรูปบริษัท เพื่อกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจการ






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.