เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มติ ศาลรธน.ไฟเขียวรัฐสภามีอำนาจยกร่าง รธน.ใหม่ ในเงื่อนไขทำประชามติ 2 ครั้ง


11 มี.ค. 2564, 17:31



มติ ศาลรธน.ไฟเขียวรัฐสภามีอำนาจยกร่าง รธน.ใหม่ ในเงื่อนไขทำประชามติ 2 ครั้ง




วันนี้ (11 มี.ค. 2564) ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1(2) ปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1) ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง จึงไม่มีการออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติ ซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน โดยศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติก่อน ว่าประชาชนประสงค์ที่จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อีกครั้ง



ส่วนคำร้องของ นายณฐพร โตประยูร ที่ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยอ้างว่าการที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ ผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และนายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะ ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรัฐสภาและหลักการตรวจสอบโดยประชาชนซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 49 มาตรา 255 มาตรา 256 ประกอบมาตรา 5 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำร้องดังกล่าว ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย


สำหรับคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยกล่าวอ้างว่า การที่สมาชิกรัฐสภา 576 คน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ลงมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามญัตติที่ 1 และสมาชิกรัฐสภาคม 647 คน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ทั้ง 2 ฉบับในวาระที่ 1 เป็นการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง 3 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองอย่างไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.