เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.3 ร่วมประชุมระดับ รมต.อาเซียน "ลดความยากจน-สร้างความเข็มแข็ง ฟื้นฟูในสถานการณ์โควิด"


19 ส.ค. 2563, 17:21



มท.3 ร่วมประชุมระดับ รมต.อาเซียน "ลดความยากจน-สร้างความเข็มแข็ง ฟื้นฟูในสถานการณ์โควิด"




วันนี้ ( 19 ส.ค.63 ) เวลา 13:15 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน (ASEAN Ministerial Meeting on Rural Development and Poverty Eradication : AMRDPE) ภายใต้แนวคิดหลัก “การลดความยากจนและการสร้างความเข็มแข็ง การฟื้นฟูในสถานการณ์โควิด-19” ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย H.E. Dr. Aung Thu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และการชลประทาน (Minister of Agriculture, Livestock and Irrigation) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประธานการประชุม H.E. Dato’ Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน รัฐมนตรีประเทศสมาชิก และคณะผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมประชุม โดยมี นายชยชัย แสงอินทร์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทย ร่วมการประชุม

โอกาสนี้ นายทรงศักดิ์ ทองศรี ได้กล่าวถ้อยแถลงภายใต้แนวคิดหลัก “การลดความยากจนและการสร้างความเข็มแข็ง การฟื้นฟูในสถานการณ์โควิด-19” ความว่า ในนามของตัวแทนประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ในวันนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความยากจน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญร่วมกัน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการในหลายมิติเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและมีฐานะยากจนให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีมาตรการหลัก 3 มาตรการ คือ



มาตรการที่ 1 มาตรการทางการเงินโดยการจ่ายเงินเยียวยาให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ 1) แรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการ 2) แรงงานอิสระภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน 3) เกษตรกร และ 4) กลุ่มเปราะบาง รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มาตรการที่ 2 มาตรการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศเพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ว่างงานและเดินทางกลับภูมิลำเนา รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานภาครัฐจ้างงานทั่วประเทศภายใต้กรอบวงเงินกว่า 86,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ

มาตรการที่ 3 มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยสามารถปรับปรับได้อย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์อันเนื่องมาจากการ การขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศวางรากฐานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ อาทิ โครงการ โคก-หนอง-นา โมเดล ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่โดยการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ตลอดทั้งปี และโครงการ Quick Win 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด–19 ทำให้เกิดความร่วมมือในการแบ่งปันให้กับผู้มีรายได้น้อยของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน ผ่านโครงการ “ตู้ปันสุข” (Pantry of Sharing) โดยกระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ทุกจังหวัดจัดตู้ปันสุขให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอและวางระบบการดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข

นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 3 มาตรการหลักทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจน และเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถปรับตัว ได้ต่อการเปลี่ยนแปลง และเชื่อมั่นว่าความพยายามของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้กำหนดนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์และลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียนให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ และมุ่งสู่การเป็นภูมิภาคของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

จากนั้น นายทรงศักดิ์ ทองศรี ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านการลดความยากจนและการพัฒนาชนบทที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูในสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับที่ประชุมสมัยพิเศษฯ และที่ประชุมได้พิจารณาถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและการจัดความยากจน (AMRDPE) ภายใต้แนวคิดหลัก “การลดความยากจนและการสร้างความเข็มแข็ง การฟื้นฟูในสถานการณ์โควิด-19”







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.