เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ปรับแผนเผชิญเหตุภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์


4 ธ.ค. 2562, 08:24



มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ปรับแผนเผชิญเหตุภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์




วันนี้ (4 ธ.ค. 62) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป ปริมาณฝนรวมจะมีค่าต่ำกว่าปกติ ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพบว่าในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาถึงแม้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตลอดจนแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศจะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ยังพบว่าบางพื้นที่ในภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ยังคงมีความเสี่ยงเนื่องจากมีปริมาณฝนตกน้อย ไม่อยู่ในเขตชลประทาน และไม่มีแหล่งเก็บน้ำสำรอง อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ และในเขตชลประทานนั้นก็มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร เนื่องจากหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยจึงอาจไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูก



พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดปรับแผนเผชิญเหตุภัยแล้งทั้งในภาพรวมและเฉพาะเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยดำเนินการใน 5 แนวทาง

ได้แก่ 1) ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งแบ่งเป็น 3 กลุ่มภารกิจหลัก คือ “กลุ่มพยากรณ์” ประกอบด้วย หน่วยงานด้านการคาดการณ์สภาพอากาศหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า และระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำด้านต่าง ๆ “กลุ่มบริหารจัดการน้ำ”ทำหน้าที่วางแผนการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดแนวทางการระบายน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่“กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ” โดยบูรณาการหน่วยปฏิบัติการกับฝ่ายพลเรือนหน่วยทหาร และภาคเอกชน เข้าแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นอันดับแรก พร้อมกำหนดและแบ่งพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

2) สำรวจตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค พร้อมกำหนดมาตรการรับมือ อาทิ การจัดทำแผนสำรองน้ำการหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ และให้กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาพื้นที่รับน้ำ(แก้มลิง) ชั่วคราวที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวรตลอดจนพิจารณาจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย เพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์

3)ในการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในพื้นที่ พร้อมประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย

4)เฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย และ

5)รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ และทราบถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐและเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อปลุกจิตสำนึกการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า


พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ทุกจังหวัดบูรณาการการทำงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ มุ่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกัน มีการทำงานอย่างเป็นระบบและคำนึงถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกทั้งนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมสนับสนุนทรัพยากรทุกด้านเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นและหากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สามารถติดต่อสายด่วนสาธารณภัย โทร.1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.