เศรษฐกิจไทยยังเติบโต คลังรายงานจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกปีงบ 68 ทะลุกว่า 1.2 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.8 พันล้านบาท
5 พ.ค. 2568, 16:07

วันนี้ (5 พฤษภาคม 2568) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่าผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) จากกระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิรวม 1,195,662 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,807 ล้านบาท หรือ 0.2% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26,503 ล้านบาท หรือ 2.3%
ส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ อย่างไรตาม รายได้จากภาษีรถยนต์ยังคงต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้อัตราภาษีเฉลี่ยลดลงตามโครงสร้างภาษีใหม่
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 สามารถจัดเก็บรวมทั้งสิ้น 1,288,536 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 38,263 ล้านบาท หรือ 3.1% โดยมีรายละเอียดดังนี้
- กรมสรรพากรจัดเก็บได้ 966,200 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 36,212 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,157 ล้านบาท หรือ 1.1%
- กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ 264,971 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,160 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,321 ล้านบาท หรือ 7.4%
- กรมศุลกากรจัดเก็บได้ 57,365 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2,109 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,235 ล้านบาท หรือ 6.9%
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อว่า แม้ว่ารายได้จากบางแหล่งจะต่ำกว่าประมาณการ แต่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ โดยจะมีการติดตามและบริหารการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและสนับสนุนความมั่นคงทางการคลังของประเทศ
สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,189,432 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 25,558 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2) โดยหน่วยงานที่นำส่งรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เป็นหลัก ได้แก่ (1) กรมสรรพากร จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ (2) ส่วนราชการอื่น จากการนำส่งเงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล เป็นหลัก
ทั้งนี้ รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,114,054 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 543,144 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 34.6) ซึ่งเป็นผลจากมาตรการเร่งรัด การเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2568 ประกอบกับในปี 2567 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ล่าช้าไปเกือบ 7 เดือน
“รัฐบาลขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการด้านการเงินและการคลังของประเทศอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีวินัยทางการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว พร้อมเดินหน้าใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนในทุกมิติ” นางสาวศศิกานต์ ระบุ