เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชวนชมปรากฎการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนนี้ 27 ส.ค.


27 ส.ค. 2566, 14:43



ชวนชมปรากฎการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนนี้ 27 ส.ค.




วันนี้ ( 27 ส.ค.66 ) นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ ยังมีอีก 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ให้ติดตามกัน โดยเริ่มที่ค่ำคืนวันนี้(27 ส.ค.66) จะเกิดปรากฎการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” และคืนวันที่ 30 ถึงรุ่งเช้า 31 สิงหาคมนี้ จะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเป็นดวงจันทร์เต็มดวง ครั้งที่ 2 ของเดือน หรือเรียกว่า “ซูเปอร์บลูมูน” ซึ่งปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์ มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าว หลังดวงอาทิตย์ ลับขอบฟ้าจะมองเห็นดาวเสาร์ปรากฏสว่างอยู่ทางทิศตะวันออก สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใสไร้ฝน ดูได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 30 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวนที่โดดเด่น ชัดเจน และหากใช้กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นแนวช่องว่างภายในวงแหวนคือ ช่องว่างแคสสินี ที่แบ่งระหว่างวงแหวนชั้น A และชั้น B รวมถึงสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ได้

สำหรับปรากฏการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” ในคืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 สิงหาคมนี้ โดยปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน หรือบลูมูน (Blue Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ว่า “ซูเปอร์บลูมูน (Super Blue Moon)” ปกติแล้วในหนึ่งเดือนจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่บ่อยนักที่จะเกิดขึ้นสองครั้ง โดยเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ครั้งนี้ ช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย

นอกจากนี้ สดร. เตรียมจัดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในคืนวันนี้(27 ส.ค.66) และ “ซูเปอร์บลูมูน” คืนวันที่ 30 ส.ค. 66 ตั้งแต่เวลา 18.00 น.-22.00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร. ทั้งที่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.