เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"หน่วยงานรัฐ" เร่งวางแนวทางผลักดันงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เป็นรากฐานให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืน


7 ส.ค. 2566, 09:07



"หน่วยงานรัฐ" เร่งวางแนวทางผลักดันงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เป็นรากฐานให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืน




วันที่ 7 สิงหาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นรากฐานให้เศรษฐกิจเติบโตได้ยั่งยืนด้วยศักยภาพของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการออกกฎหมายมารองรับหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564

ขณะนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตผลิตภัณฑ์ก็ได้เร่งรัดกระบวนการทำงานเพื่อรับกับนโยบายการวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  มีการปรับปรุงกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง โดยล่าสุดได้จัดทำระบบให้คำปรึกษา การอนุญาตที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์กลุ่มนวัตกรรมสุขภาพให้เติบโตได้มากขึ้น



น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อย. จัดให้มีบริการวินิจฉัยประเภทผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการ หรือนักวิจัยสามารถยื่นขออนุญาตผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการวิจัยไปจนถึงพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่านระบบให้คำปรึกษาออนไลน์ หรือe-Consult

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 66 ได้มีผู้ยื่นคำขอรับคำปรึกษาและคำขอรับการวินิจฉัยในระบบ e-Consult  4,892 คำขอ แบ่งเป็นคำขอรับการวินิจฉัยประเภทผลิตภัณฑ์สุขภาพ 3,236 คำขอ และคำขอรับคำปรึกษาผลิตภัณฑ์สุขภาพ 1,656 คำขอ แสดงให้เห็นแนวโน้มของการนำองค์ความรู้ งานศึกษาวิจัยด้านสุขภาพออกไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ที่มากขึ้น โดย อย.ได้ให้บริการ e-Consult แก่ผู้ประกอบการ หรือนักวิจัยที่ประสงค์รับคำปรึกษาผ่านช่องทาง [email protected], Line ID: @consult_fda และ โทร 1556 


นอกจากนี้ อย. มีการจัดทำระบบสนับสนุนให้งานวิจัยนวัตกรรมสุขภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยประสานงานกับภาคีเครือข่าย เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ หน่วยงานให้ทุน มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อดึงให้นักวิจัยที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและมีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (Technology readiness level; TRL) อยู่ในระดับ 3 เป็นอย่างน้อยหรือมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบแล้ว สามารถยื่นข้อมูลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยขั้นตอนที่รวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาด และสินค้ากลุ่มนวัตกรรมสุขภาพสามารถอุตสาหกรรมที่เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ต่อไป






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.