เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กทม.ส่งหนังสือถึง "แอชตัน อโศก" ให้แก้ไขทางเข้าออกภายใน 30 วัน ย้ำ! ทำตามกฎหมาย ไม่ได้เอื้อใคร


3 ส.ค. 2566, 14:20



กทม.ส่งหนังสือถึง "แอชตัน อโศก" ให้แก้ไขทางเข้าออกภายใน 30 วัน ย้ำ! ทำตามกฎหมาย ไม่ได้เอื้อใคร




วันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวกรณีแนวทางการดำเนินการกรณี แอชตันอโศก โดยมีนายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ร่วมแถลง ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) 
 



นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.น้อมรับคำสั่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และปฏิบัติตาม ขั้นตอนต่างๆ เป็นเรื่องของกฎหมายล้วนๆเพราะมีระบุชัดเจน  ในกฎหมายควบคุมอาคารว่าจะต้องทำอย่างไรซึ่งสิ่งที่ กทม.ทำได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น ขอย้ำว่าการดำเนินการต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ใช้ดำเนินการในเรื่องนี้ ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง ไม่ได้ระบุถึงเรื่องการรื้อถอนอาคาร ดังนั้น การดำเนินการต้องพิจารณาไปตามกฎหมายอย่างรอบคอบ ทีละขั้นตอน ตามอำนาจหน้าที่ที่ กทม.ทำได้ 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาติดวันหยุดยาวจึงยังไม่ได้มีการดำเนินการส่งหนังสือหรือพูดคุยกับทางบริษัทเจ้าของโครงการแต่จะเร่งให้สำนักงานโยธาทำหนังสือแจ้งไปภายในสัปดาห์นี้  ซึ่งทางเจ้าของโครงการ ต้องยื่นแนวทางการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 30 วัน หากโครงการยังแก้ไขไม่ได้ สามารถขอขยายเวลาออกไปได้โดยมีเหตุผลความจำเป็นรองรับ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ปี 2557 ก่อนตนเข้ามารับตำแหน่ง การดำเนินการจากนี้ต้องรอบคอบเพราะมีผู้รับผลกระทบกว่า 500 รายที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องในคอนโดมิเนียมแอชตันอโศก ไปแล้ว

ด้านนายวิศณุ กล่าวว่า ที่ผ่าน กทม.มีหนังสือรับทราบแบบแปลน และออกหนังสือทักท้วงไปแล้ว และดำเนินการทักท้วงมาโดยตลอด เเต่มีประเด็นที่ศาลอยู่ เนื่องจากทางบริษัทอุทรณ์ว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย  สำนักการโยธา(สนย.) จึงออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารให้เเบบมีเงื่อนไข รวมถึงปัญหาทางแพ่งที่ผู้ก่อสร้างต้องพิจารณา รวมถึงการแนะนำแจ้งดัดแปลงอาคาร ที่ผู้ยื่นขอต้องรับผิดชอบ ระบุไว้ในเงื่อนไขในใบรับรองการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร (แบบ อ.6) เลขที่ 59/2561 ลงวันที่ 11 มิ.ย.61 ระบุชัดเจนว่า เรื่องท่ีดินท่ีต้ังโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ท่ีมีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยผ่านเข้าออกโครงการสู่ซอยสุขุมวิท21(อโศกมนตรี)น้ัน หากศาลมีคำพิพากษาเป็นท่ีสิ้นสุดแล้ว ผลการพิจารณาทำให้อาคารของโครงการขัดกฎหมายว่าด้วยการควบคมุอาคาร ผู้ได้รับใบรับรองฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายท่ีเกิดขึ้นต่อตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป

ทั้งนี้ ตามกฎหมายพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการตามมาตรา 40 (3)ได้ ขณะนี้ กทม.จึงดำเนินการตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นกรณีที่อาคารดังกล่าวนั้นสามารถดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ซึ่งหลังจากนี้สำนักการโยธาจะต้องทำหนังสือถึงเจ้าของโครงการต่อไป 

สำหรับขั้นตอนในการออกคำสั่งกรณีแอชตัน อโศก เรียงลำดับดังนี้ 1.พิจารณาออกคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42(มาตรา40(3)) 2.กรณีอาคารนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง (มาตรา 41) 3.ผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ออกคำสั่งรื้อถอนอาคาร (มาตรา 42) สำหรับระยะเวลาแก้ไขตามมาตรา 41 ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ในกรณีมีเหตุอันควร พนักงานท้องถิ่นจะขยายเวลาออกไปอีกก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมีใจความสำคัญ คือ 1.เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง 2.ตามมาตรา 42 ออกคำสั่งให้แก้ไขไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้ คาดว่าจะทำหนังสือไปถึงบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน) ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อแจ้งให้ดำเนินการแก้ไขภายในเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน

“กทม.ไม่มีเหตุผลในการระงับโครงการแอชตัน อโศก เพราะกฎหมายให้แก้ไข และปัจจุบันทางเข้าออกของโครงการรถดับเพลิงยังสามารถเข้าได้ตามปกติ กทม.ให้เวลาแก้ไข 30 วัน และสามารถขยายเวลาออกไปได้ตามมาตรา 41 หากโครงการไม่สามารถแก้ไขได้ต้องมีเหตุผล ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย” รองผู้ว่าฯ วิศณุกล่าว

นายชัชชาติ ตอบข้อถามในตอนท้าย ในเรื่องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ออกใบรับแจ้งก่อสร้าง หรือไม่ ว่า เข้าใจผู้ออกใบอนุญาตในขณะนั้น หากย้อนกลับไปดูในช่วงเวลานั้นพบว่ามีการยื่นเอกสารอย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์หากเจ้าหน้าที่ไม่พิจารณาออกใบให้ก็อาจจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 ได้ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ในเรื่องนี้ แต่ กทม.ต้องเน้นทำตามกฎหมาย จากนี้ไปจะนำกรณีนี้เป็นตัวอย่างในการพิจารณาออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง กรณีใช้พื้นที่ของรฟม.เป็นทางเข้าออก ก็ได้ให้สำนักการโยธาไปสำรวจว่ามีโครงการในลักษณะนี้ที่ไหนบ้างกี่โครงการ โดยให้ทำหนังสือสอบถามไปทางรฟม.






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.