เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



บุกตรวจค้น "คลินิกเถื่อน" ย่านทองหล่อ จ้างสาวเมียนมาเป็นแพทย์ พบมีสาขาทั่วโลกกว่า 15 แห่ง


22 ก.ค. 2566, 09:38



บุกตรวจค้น "คลินิกเถื่อน" ย่านทองหล่อ จ้างสาวเมียนมาเป็นแพทย์ พบมีสาขาทั่วโลกกว่า 15 แห่ง




เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงตรวจค้น คลินิกเถื่อน ย่านทองหล่อ เปิดให้บริการรักษาลูกค้าต่างชาติโดยใช้บุคลากรทางการแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านรักษา และมีสาขาทั่วโลกกว่า 15 แห่ง ตรวจยึดของมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

สืบเนื่องจาก กก.4 บก.ปคบ.รับการประสานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ว่ารับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนสงสัยว่าสถานพยาบาลแห่งหนึ่งย่านทองหล่อเปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และแพทย์ผู้ทำการรักษาไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมทั้งสงสัยว่ายาที่ใช้ในการรักษาจดทะเบียนตำรับยาหรือไม่

จึงสืบสวนทราบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวชื่อว่า ซี โคโค่ บิวตี้ คลินิก ตั้งอยู่ 33/7 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร และ เปิดดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง ตรวจสอบข้อมูลพบว่าคลินิกดังกล่าวประกอบกิจการโดย บริษัท ซี โคโค่ บิวตี้ คลินิก จำกัด โดยมีบุคคลสัญชาติจีนเป็นกรรมการบริษัท และเปิดสถานพยาบาลในชื่อ ซี โคโค่ บิวตี้ ในหลายประเทศทั่วโลกกว่า 15 สาขา เช่น จีน, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, ออสเตรเลีย เป็นต้น
 



ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.นำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ตรวจค้นสถานพยาบาลดังกล่าวพบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดรักษาแก่ประชาชนทั่วไป และมีประชาชนเข้ารับบริการ ซึ่งมี ผู้หญิงสัญชาติเมียนมา อ้างตนเป็นแพทย์ประจำคลินิกทำการตรวจรักษาและฉีดวิตามินบำรุงผิวกับประชาชน

โดยผู้หญิงคนดังกล่าวรับว่าเป็นชาวเมียนมา จบการศึกษาทางด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยในประเทศเมียนมา เมื่อจบการศึกษามีผู้ชักชวนให้มาทำงานที่สถานพยาบาลดังกล่าวในลักษณะพาร์ตไทม์ รับค่าจ้างครั้งละ 2,000 บาท ทำงานมาแล้วประมาณ 1 เดือน ตรวจสอบใบอนุญาตทำงานพบว่าได้รับสิทธิอนุญาตให้ทำงานเพียงเป็นผู้จัดการทั่วไป แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของประเทศไทยแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรวจยึดของกลาง 51 รายการ เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา 23 รายการ, เครื่องมือแพทย์ 12 รายการ และเครื่องสำอาง 16 รายการ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5,000,000 บาท พร้อมจับกุมผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิจะทำได้”

ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา โดยศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำรอ 6 เดือน โทษจำรอลงอาญา ในส่วนเจ้าของคลินิกดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติ พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อจะเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง, ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง, และข้อหาตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของบุคคลต่างด้าวต่อไป

สอบถามเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกแจ้งว่า สำหรับสาขาในประเทศไทย เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับลูกค้าชาวต่างประเทศ และลูกค้าที่มาจากสาขาต่างประเทศ ไม่รับลูกค้าที่เป็นคนไทย โดยคลินิกแห่งนี้เปิดดำเนินการมาแล้วประมาณ 9 เดือน จากการตรวจสอบการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ของสถานพยาบาลดังกล่าวพบว่ามีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป


ในเบื้องต้นการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกรณีแพทย์ที่ทำการรักษา ประกอบด้วย

1.พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ.2560 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิจะทำได้” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับประเทศ กรณีกรรมการบริษัท มีความผิดฐาน 1.พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

และ 5.พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ.2560 ฐาน “รับคนต่างด้าวที่ไม่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากมีสิทธิที่จะทำได้” ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท

พล.ต.ต.อนันต์กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลคลินิก แพทย์ และขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการรักษาโรค หรือเสริมความงาม เนื่องจากเป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเกิดผลกระทบกับร่างกายโดยตรง ควรตรวจสอบคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาว่าได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.