พารู้จัก "นกกางเขนน้ำหลังแดง" คู่นกน้อยแสนน่ารัก นอนคู่กันขณะฝนโปรยปราย
21 ก.ค. 2566, 18:24

นกกางเขนน้ำหลังแดง สัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งเป็นนกหากินแมลงตามลำธารในป่าดิบตั้งแต่ที่ราบจนถึงบนภูเขาที่ไม่สูงนัก นอกจากหลังสีส้มที่สวยงามแล้วนกตัวนี้ยังมีเสียงร้องอันไพเราะและพฤติกรรมน่ารัก
นกกางเขนน้ำหลังแดง (Chestnut-naped Forktail)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Enicurus ruficapillus
ตัวผู้ : หน้าและคอดำ หน้าผากมีแถบขาวเล็กๆ กระหม่อมถึงหลังตอนบนน้ำตาลแดง หลังปีก และหางดำมีแถบขาว หลังตอนล่างและสะโพกขาว อกและลำตัวด้านล่างขาวมีลายเกล็ด จากขอบขนสีดำหนาแน่น แข้งและตีนชมพูอ่อนหรือสีเนื้อ
ตัวเมีย : คล้ายตัวผู้ แต่สีน้ำตาลแดงคล้ำกว่า และลงมาถึงหลังตอนล่าง
การผสมพันธุ์ : ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดู ฝนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม รังเป็น รูปถ้วย โดยเฉลี่ยมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 13.0 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 7.0 ซม. และลึก 6.0 ซม. รังทำด้วยมอสและตะไคร่น้ำ นำใบไม้แห้งที่เนื้อ ใบหลุดไปเหลือแต่โครงเส้นใบมาวางซ้อนกันหลายชั้น จนหนา ทำให้พื้นรังนุ่มและเก็บความชื้นได้ดี ทำรังตามซอกหินหรือรากไม้ริมฝั่งลำธาร รังมีไข่ 2-3 ฟอง เสียงร้อง : "เคอ-ที"
ถิ่นอาศัย : น้ำตกลำธาร และแม่น้ำในป่า ที่ราบถึงความสูง 915 เมตร นกประจำถิ่นพบไม่บ่อยหรือพบบ่อยบางพื้นที่
ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ Khaolak-Lamru National Park