เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท. จับมือ UNICEF ประเมินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ


6 ก.ค. 2566, 13:50



มท. จับมือ UNICEF ประเมินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ




เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด ชั้น 8 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้รับมอบหมายจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ร่วมประชุมการตรวจประเมินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2566 โดยวิธีการสัมภาษณ์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting) โดยมี ดร.มาร์คัส พาวเวลล์ หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ (Team Leader) The Centre for Employment Initiatives Limited (CEI) นางสาวพิณทอง เล่ห์กันต์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผล บริษัท โปรแมน จำกัด ภายใต้องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย โดย นายสราวุธ สุขรื่น รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด นายพลวัฒน์ การุญภาสกร ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด นายสันติ วงศ์จิระสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการบริหารราชการจังหวัด สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีภารกิจหลักในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้นำท้องถิ่นท้องที่ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย คือการพัฒนาเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบการศึกษาภาคบังคับ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนโครงการระดับจังหวัด โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 พร้อมกับอีก 7 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนและขาดโอกาสในการศึกษาต่อทุกจังหวัดให้มีทักษะด้านอาชีพในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานมีฝีมือ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียนและครอบครัวกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงพี่น้องประชาชนในไทยทุกคนให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน 

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความสำคัญหลักประการแรก คือ การพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้เด็กและเยาวชนไทยที่ขาดโอกาสในการศึกษาให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ประการถัดมาคือการส่งเสริมและพัฒนาทักษะแรงงานที่ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และอีกประการหนึ่งคือการสนับสนุนในการสรรหาแรงงานที่มีทักษะ ให้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างแรงดึงดูดและแรงจูงใจให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสในด้านการศึกษาและการหาเลี้ยงชีพ โดยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการนำแนวนโยบายไปสู่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลงพื้นที่ไปช่วยกันค้นหากลุ่มเป้าหมายนักเรียน พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการศึกษาดูงาน การฝึกอาชีพในสาขาวิชาที่นักเรียนสนใจทั้งในห้องเรียนและสถานประกอบการจริง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนและครอบครัว โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 

“สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาขั้นต่อไป คือการที่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถฝึกทักษะตามที่ต้องการ มีสาเหตุมาจากที่นักเรียนไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากครอบครัว เพราะสาขาอาชีพที่ฝึกไม่ตอบสนองสนองความต้องการของครอบครัว หรือ ความไม่ชัดเจนของกฎหมายแรงงาน เนื่องจากเด็กมีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นความกังวลของผู้ประกอบการในการว่าจ้างเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย นอกจากเรื่องอายุแล้วยังมีอุปสรรคสภาพวุฒิภาวะของเยาวชน รวมไปถึงอุปสรรคด้านเอกสารและหลักฐานส่วนบุคคลของเยาวชนที่มีความแตกต่าง และมีความซับซ้อนมากกว่าแรงงานที่กฎหมายกำหนด จึงต้องบูรณาการร่วมมือหารือกันเพื่อทำความเข้าใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เพื่อทำความเข้าใจให้การจ้างงานนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเป็นไปในแนวทางเดียวกันและไม่ขัดต่อกฎหมาย และเพื่อให้การสนับสนุนทั้งเด็กนักเรียนและผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่” นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการฝึกทักษะให้กับเยาวชนที่มีอายุแตกต่างกัน หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ตนขอยกตัวอย่างด้านอาชีพกีฬานักฟุตบอล ซึ่งเด็กเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถลงแข่งลีคอาชีพร่วมกับผู้ใหญ่ได้ และยิ่งไปกว่านั้นได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนในระดับเดียวกันกับผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นหากเยาวชนมีความรู้ความสามารถและมีทักษะที่เป็นที่ต้องการอย่างแท้จริง เราก็ควรส่งเสริมและสนับสนุนโดยไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นแนวทางที่พวกเราและทางส่วนกลางต้องพูดคุยหารือร่วมกันต่อไป ในด้านสถานที่ฝึกอาชีพโดยใช้พื้นที่ของผู้ประกอบการ เป็นแนวทางที่ควรส่งเสริม เพราะจะส่งเสริมให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายหรือเยาวชนเรียนรู้โดยตรงกับผู้ประกอบการ ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีองค์ความรู้เฉพาะด้านที่ตรงต่อความต้องการด้านแรงงานของสถานประกอบการ ทำให้เป็นผลดีทั้งกลุ่มเป้าหมายและผู้ประกอบการ รวมไปถึงเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในด้านการจัดหาพื้นที่เพื่อฝึกทักษะแรงงาน ส่งผลให้ลดงบประมาณในการดำเนินงานดังกล่าวลงได้ ส่งผลต่อมาถึงด้านความปลอดภัยของเยาวชนที่จะเข้าไปฝึกงานในสถานที่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยในพื้นที่ ชุดป้องกัน (Safety) รวมถึงความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่ทำงาน ซึ่งไม่ได้คำนึงเพียงแค่เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ต้องรวมถึงแรงงานที่ทำงานอยู่ด้วย จึงต้องให้ผู้ประกอบการมีการจัดพี่เลี้ยง สนับสนุนให้เยาวชนฝึกทักษะเหมาะสมตามวุฒิภาวะ เพื่อให้เยาวชนวามารถใช้ชีวิตในสถานประกอบการได้อย่างปลอดภัย 

“ในด้านตัวบทกฎหมายแรงงาน อาจต้องมีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเป็นไปตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องที่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อจิตใจต่อเด็กเยาวชน รวมถึงเรื่องเพศที่มีผลต่อทักษะด้านเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่เพศที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นแรงงานเพศชายกว่าหญิง อาจเพราะผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น จึงเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อร่วมกันหาแนวทางส่งเสริมทักษะอาชีพที่เกื้อหนุนส่งเสริมกับทางเพศหญิงต่อไป เช่น การส่งเสริมทักษะด้านโปรแกรมเมอร์ ดีไซน์เนอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ในด้านการฝึกทักษะทางระบบออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีที่จะส่งเสริมให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึง และสามารถเลือกได้ตามความสนใจของแต่ละคน ซึ่งจะได้ผลดีในเชิงวิชาการหรือด้านทฤษฎี แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องได้รับการฝึกฝนทักษะอาชีพในภาคปฏิบัติ จึงต้องหาโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสการปฏิบัติงานจริง ในสังคมของการทำงานจริงด้วย” นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่าในฐานะผู้ขับเคลื่อนในนามของกระทรวงมหาดไทย ตนรู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ซึ่งการจะขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยผู้บริหารหรือผู้นำอย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการนี้ และต้องมีอุดมการณ์ มีทัศนคติที่ดี และต้องมีความรอบคอบ เพราะประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และที่สำคัญคือต้องช่วยกันผลักดันให้ผู้ประกอบการเปิดโอกาสให้เยาวชน เพราะไม่ได้เพียงแค่ด้านโอกาสในการจ้างงาน แต่รวมไปถึงโอกาสการดำรงชีวิตของเยาวชนที่ต้องมีความมั่นคง ปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และนอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ผลประโยชน์สูงสุดของการที่เยาวชนมีทักษะอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน นั่นคือประเทศชาติบ้านเมืองจะได้ประโยชน์ เพราะเยาวชนที่เราพัฒนาจะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเยาวชนและครอบครัวที่ดีขึ้น เป็นความภาคภูมิใจของคนในครอบครัวและสังคม ทำให้ประชาชนมีความสุข รวมไปถึงความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนด้านแรงงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่ทุกภาคส่วนได้บูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดของพี่ของพี่น้องประชาชน ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ เยาวชนที่ได้รับการฝึกทักษะทุกคนต้องได้รับการจ้างแรงงานจริง มีงานทำจริง ประกอบอาชีพจริง เป็นต้นแบบที่สร้างแรงจูงใจและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เกิดความต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการจ้างงานต่อไป และท้ายที่สุดภาครัฐต้องบูรณาการร่วมกัน ควบคุมดูแลและให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.