เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กรมการแพทย์ เผย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" พบมากขึ้น ป่วยใหม่วันละ 44 คน


17 มี.ค. 2566, 18:03



กรมการแพทย์ เผย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" พบมากขึ้น ป่วยใหม่วันละ 44 คน




17 มี.ค. 66  นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เดือนมีนาคมของทุกปี เป็นเดือนที่ทั่วโลกร่วมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ซึ่งปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ที่น่ากังวลคือ อัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยทุกวันมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 15 คน หรือปีละ 5,476 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 44 คน หรือปีละ 15,939 คน ทั้งนี้ สาเหตุการเกิดโรคมีหลากหลาย ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ การกิน โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเนื้อแดง เนื้อวัว เนื้อหมูที่ผ่านการแปรรูป หรือปรุงด้วยความร้อนสูงเป็นเวลานาน เช่น ปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และมีมันสูง กินอาหารกากใยน้อย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่

นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มเสี่ยงคือคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่แบบอะดีโนมา หรือรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง


พญ.หทัยวรรณ ม่วงตาด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมมะเร็งระบบทางเดินอาหารและตับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โดยทั่วไปโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดนี้ในช่วงอายุดังกล่าวจึงป้องกันหรือช่วยให้ตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นได้มาก

ปัจจุบันตรวจคัดกรองด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT) ซึ่งสะดวก ง่ายและปลอดภัย ประชาชนอายุ 50-70 ปี สามารถรับอุปกรณ์และน้ำยาเก็บตัวอย่างได้ที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปเก็บอุจจาระด้วยตนเองที่บ้าน แล้วส่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ผล

กรณีผลผิดปกติจะได้รับการตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ส่วนกลุ่มที่มีอาการผิดปกติ อาทิ ระบบขับถ่ายแปรปรวน ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีดเรื้อรัง ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม


พญ.หทัยวรรณกล่าวว่า การรักษาแบ่งตามระยะโรค โดยระยะแรกส่องกล้องทางเดินอาหารแบบตัดติ่งเนื้องอกแบบชิ้นเดียว ไม่มีแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง กรณีลุกลามมากขึ้น บางกรณีผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็กเพื่อตัดลำไส้ใหญ่ไส้ตรงและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และตัดต่อลำไส้ใหญ่ เป็นการรักษาที่ปลอดภัยและมาตรฐาน บางรายสามารถหลีกเลี่ยงการมีช่องถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (ทวารเทียม) ถาวรได้

รวมถึงรักษาร่วม ได้แก่ ให้ยาเคมีบำบัด ฉายแสง นำก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด เพิ่มโอกาสหายของโรคและลดอัตรากลับมาเป็นซ้ำได้ ทั้งนี้ แม้ตัวโรคมีการลุกลามหรือแพร่กระจาย การให้ยาเคมีร่วมกับยาเคมีพุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัด ช่วยชะลอการดำเนินของโรค ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีระดับหนึ่งได้ในระยะเวลานั้น

“การดูแลร่างกายให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมะเร็งที่ดีช่วยทำให้ห่างไกลจากมะเร็งได้ เริ่มที่กินอาหาร 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารเนื้อแดงแปรรูป ปิ้งย่างจนไหม้เกรียม แอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ทำให้มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น ” พญ.หทัยวรรณ กล่าว





คำที่เกี่ยวข้อง : #มะเร็งลำไส้ใหญ่  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.