เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ หารือ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ ย้ำ! ความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้น การค้าการลงทุน สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว


1 มี.ค. 2566, 13:16



นายกฯ หารือ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ ย้ำ! ความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้น การค้าการลงทุน สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว




วันนี้ (1 มีนาคม 2566) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเปโดร สวาห์เลน(H.E. Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทยในโอกาสเข้ารับหน้าที่ พร้อมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส โดยทั้งสองฝ่ายได้ฉลองโอกาสครบรอบ 90 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ไปเมื่อปี 2564 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับมาโดยตลอด แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พร้อมทั้งยืนยันความตั้งใจที่จะร่วมมือกับเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ อย่างเต็มที่ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ
 
เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่สวยงาม พร้อมทั้งชื่นชมบทบาทนายกรัฐมนตรีในการบริหารจัดการการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี และเป็นเวทีที่สามารถผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้เป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจร่วมกันรับรอง นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสที่มีความใกล้ชิดกันในทุกระดับ และพร้อมที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นในทุกมิติ  โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้



ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียินดีที่สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในยุโรป และมีบริษัทชั้นนำกว่า 150 บริษัท เข้ามาลงทุนในไทย อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและสมาพันธรัฐสวิสยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนนักลงทุนจากสมาพันธรัฐสวิสเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาที่ทางสมาพันธรัฐสวิสมีความเชี่ยวชาญ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณสมาพันธรัฐสวิสที่สนับสนุนการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) มาโดยตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุผลการเจรจาได้โดยเร็ว ทางด้านเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ เห็นพ้องว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก โดยพร้อมผลักดันการฟื้นการเจรจา EFTA ให้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
 
ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและสมาพันธรัฐสวิสได้ลงนามข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสร่วมกัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ซึ่งครอบคลุมการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันดำเนินโครงการรถขนส่งมวลชนไฟฟ้าในประเทศไทย (e-bus) ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดทางเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งสู่การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสะท้อนความร่วมมือด้านถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศคู่แรกของโลกภายใต้ความตกลงปารีส และเป็นการย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ได้ประกาศไว้ต่อประชาคมโลก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทางสมาพันธรัฐสวิสเพิ่มพูนความร่วมมือกับไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ ตลอดจนดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังมาโดยตลอด
 
ทางด้านเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ ยินดีที่ไทยให้ความสำคัญในการผลักดันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยทางสมาพันธรัฐสวิสต้องการสนับสนุนการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในไทยเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรไทย โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีผลักดัน อาทิ การทำเกษตรแนวใหม่ Smart Farming และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย 


ด้านการท่องเที่ยวทั้งสองฝ่ายยินดีที่ประชาชนทั้งสองประเทศ แลกเปลี่ยนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น นายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายสมาพันธรัฐสวิสฯ สนับสนุบให้นักท่องเที่ยวชาวสวิสเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากขึ้น 
 
ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีชื่นชมศักยภาพด้านการศึกษาของสมาพันธรัฐสวิสที่แข็งแกร่ง โดยไทยต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากทางสมาพันธรัฐสวิส พร้อมขอให้เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสฯ สนับสนุนความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างกันมากขึ้น
 
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกประเด็นที่ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Expo 2028 - Phuket, Thailand ภายใต้หัวข้อ “Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity” มุ่งนำเสนอแนวทางการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยขอให้สมาพันธรัฐสวิสพิจารณาให้การสนับสนุน 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.