เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศาลอาญา ไม่ให้ประกันตัว "6 ตำรวจห้วยขวาง" ปมรีดทรัพย์ดาราสาวไต้หวัน ชี้เป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อภาพลักษณ์


3 ก.พ. 2566, 15:34



ศาลอาญา ไม่ให้ประกันตัว "6 ตำรวจห้วยขวาง"  ปมรีดทรัพย์ดาราสาวไต้หวัน ชี้เป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อภาพลักษณ์




หลังจากที่พนักงานสอบสวนในคณะทำงานของการดำเนินคดีตำรวจ จาก สน.ห้วยขวางที่เกี่ยวข้องกับการเรียกรับเงินจากนักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน ได้ทำการสอบปากคำผู้เสียหายในคดีที่เป็นผู้จ่ายเงินให้กับทางตำรวจและผู้เสียหายได้มีการชี้ตัวตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินในครั้งนี้ได้ทั้ง 6 คน

โดยพนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 149 คือ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157

สำหรับรายชื่อข้าราชการตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ถูกแจ้งข้อหาในครั้งนี้ ได้แก่
1.ร้อยตำรวจเอก ยอดฤทธิ์ ลางดุลเสน รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ห้วยขวาง (วันเกิดเหตุมีปากเสียงกับผู้เสียหาย)
2.ร้อยตำรวจเอก ปฏิภาณ ศิริชัยวัฒนา รองสารวัตรอำนวยการ สน.ห้วยขวาง (วันเกิดเหตุมีปากเสียงกับผู้เสียหาย)
3.ดาบตำรวจ กฤษฎา คำมะนา ผู้บังคับหมู่ ทำหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันปราบปราม สน.ห้วยขวาง (วันเกิดเหตุมีปากเสียงกับผู้เสียหาย)
4.สิบตำรวจเอก เฉลิมชัย ศิริวังโส ผู้บังคับหมู่ ทำหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันปราบปราม สน.ห้วยขวาง (วันเกิดเหตุทำหน้าที่คัดเลือกรถเหยื่อ)
5.สิบตำรวจเอก วัชรนนท์ ขาวยอง ผู้บังคับหมู่ ทำหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันปราบปราม สน.หัวยขวาง (วันเกิดเหตุ มีปากเสียงกับผู้เสียหาย)
6.สิบตำรวจเอก นันทวัชร์ สุวรรณา ผู้บังคับหมู่ ทำหน้าที่ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง (วันเกิดเหตุเป็นผู้ที่อยู่นอกเครื่องแบบเรียกรับเงินผู้เสียหายชาวสิงคโปร์)



ส่วนดาบตำรวจ อธิเวช จุลพันธ์ ผู้บังคับหมู่ ทำหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันปราบปราม สน.ห้วยขวาง ที่ปรากฏใน 7 รายชื่อ ที่ถูกสั่งให้ช่วยราชการไม่พบว่ามีรายชื่อที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากในขณะเกิดเหตุไม่อยู่ ออกไประงับเหตุนอกพื้นที่

มีรายงานว่าในส่วนของผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ที่มีการถูกแจ้งข้อหาในครั้งนี้มาจากการที่ทางกองบังคับการสืบสวนสอบสวน รวบรวมข้อมูลรวมถึงการสอบปากคำผู้เสียหายชาวสิงคโปร์ ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับข้อมูลที่คณะทำงานฝ่ายสืบสวนดำเนินการรวบรวมมา จึงทำให้มีการแจ้งข้อหาได้ ขณะที่ตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ถูกคุมตัวไว้ที่บริเวณชั้น 4 ของอาคารกองบังคับการสืบสวนสอบสวน  รอพบทนายความและครอบครัว

ต่อมา พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เผยถึงการดำเนินการทางคดีกับ 6 นาย ตำรวจสังกัด สน.ห้วยขวาง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการเรียกรับสินบนจากทางผู้เสียหายชาวต่างชาติ ทางคณะทำงานได้มีการสอบสวน ตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน และได้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 149 และความผิดตามมาตรา 157 เป็นที่เรียบร้อย

เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ให้การรับสารภาพในชั้นสืบสวน แต่เมื่อมีการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อลงในสำนวนคดีกลับปฏิเสธทั้ง 6 คน โดยคณะทำงานมั่นใจในพยานหลักฐานทั้งหมด ซึ่งพยานหลักฐานที่ทางฝ่ายสืบสวนรวบรวม มาตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำงานในคดีนี้ มีความคืบหน้ามากกว่าการให้ปากคำของทางผู้เสียหาย โดยหลักฐานสำคัญเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดจากทางภาคเอกชน ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ของตำรวจทั้ง 6 คน ไว้ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ 2 นาย ที่เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหาย

ส่วนที่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ในการรวบรวมกล้องของทางเอกชน เนื่องจากต้องรอการประสานงานกับทางภาคเอกชน รวมถึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์ทำให้รับความร่วมมือในประเด็นนี้เพิ่มเติมมากขึ้น

การให้ปากคำของผู้เสียหายชาวสิงคโปร์ มีการชี้ตัวไม่ถึงจำนวนที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ถือว่าให้การเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของคณะทำงาน ทำให้สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ ขณะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางมาควบคุมการสอบสวนด้วยตนเองตลอดทั้งคืน มั่นใจในพยานหลักฐานที่ทางฝ่ายสืบสวนได้รวบรวมมา ยังไม่มีข้อสั่งการใดเป็นพิเศษเพิ่มเติม

ส่วนประเด็นกล้องประจำตัวของตำรวจชุดที่ตั้งด่านในวันเกิดเหตุ ทราบว่าทางสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ส่งไฟล์กลับมาที่พนักงานสอบสวนแล้ว แต่ตนไม่ทราบในรายละเอียด ณ เวลานี้ถือว่าพยานหลักฐานส่วนอื่นมีชัดเจนไปมาก ยืนยันว่าไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ กับผู้เสียหาย เนื่องจากพยานหลักฐานสามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นการเรียกรับไม่ใช่การติดสินบนเจ้าพนักงาน

เมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) ระหว่างการสอบปากคำ ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน หลังร้องขอพบทนายความตามสิทธิ ทนายความ ที่ร่วมรับฟังในการสอบปากคำหนึ่งในผู้ต้องหา (ส.ต.อ. วัชระนนท์ ชาวยอง) ระบุว่า ผู้ต้องหารายนี้ยังให้การปฏิเสธ รวมถึงยังมีท่าทีที่เครียดเพราะยังรับไม่ได้กับการที่ถูกแจ้งข้อหาหนักแบบนี้ แต่มีครอบครัวมาให้กำลังใจ เบื้องต้นจากการสอบถามยังยืนว่าไม่ได้กระทำการดังกล่าว โดยอ้างว่าในวันเกิดเหตุตนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับจุดเกิดเหตุ โดยมีหลักฐาน ซึ่งอยู่กับผู้บังคับบัญชา

ทั้งนี้ ยังยอมรับว่าในวันดังกล่าวตนเองไม่ได้ติดกล้องคอมแบคคาเมร่า แต่ก็ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองที่จะนำหลักฐานไปต่อสู้ในชั้นศาล นอกจากนี้ครอบครัวได้เตรียมหลักทรัพย์ในการประกันตัวไว้แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไร คาดว่าจะเป็นการซื้อหลักทรัพย์ที่ศาล


ภายหลังที่พนักงานสอบสวน นำตัว 6 ตำรวจ สน.ห้วยขวาง  ไปยื่นคำร้องฝากขังครั้งเเรกต่อศาลเป็นเวลา 12 วัน ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” อันเป็นความผิดตามมาตรา 149, 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

โดยศาลพิจารณาคำร้องเเล้วอนุญาตฝากขังได้ต่อมาผู้ต้องหาทั้ง 6 ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง กระทบต่อภาพลักษณ์และกระบวนการยุติธรรมของประเทศโดยรวม

อีกทั้งจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และกระบวนการในชั้นสอบสวน ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวผู้ต้องหาไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ขณะที่ พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ลงนามให้ข้าราชการตำรวจทั้ง 6 นาย “ออกจากราชการไว้ก่อน” เพื่อรอผลฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

โดยรายละเอียดของเอกสารบางช่วงบางตอน ระบุว่า “เนื่องจากทั้ง 6 เป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอาญา รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่กลับมีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกกับการไม่จับกุมผู้กระทำผิดดำเนินคดี อันเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  และพฤติกรรมดังกล่าวไม่น่าไว้วางใจ ถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายได้”






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.