เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ชูผลงานผลักดันกฎหมายสำคัญได้เพิ่มอีก 5 ฉบับ จนสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน


2 ก.พ. 2566, 09:11



นายกฯ ชูผลงานผลักดันกฎหมายสำคัญได้เพิ่มอีก 5 ฉบับ จนสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน




วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและติดตามผลงานการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาล ตามนโยบายของรัฐบาล ที่หน่วยงานฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายหลักของประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยในห้วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานเชิงรุกแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับที่เป็นปัญหาโครงสร้างมาเป็นเวลานาน โดยกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ รัฐบาลผลักดันจนสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ประกอบด้วย  

1. พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสะดวก ประหยัด และลดขั้นตอนวุ่นวายโดยไม่จำเป็น พร้อมปิดช่องทางทุจริตรับสินบนใต้โต๊ะ การที่ทุกหน่วยงานนำกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมายของตนขึ้นมาเปิดเผย และกำหนดระยะเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลให้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยถีบตัวเพิ่มขึ้น 7 อันดับ โดยกฎหมายการอำนวยความสะดวก เป็นการลดทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อความโปร่งใสในการบริการประชาชน และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของระบบราชการ 



2. พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายเพื่อการปรับโครงสร้างปรุงวิธีการทำงานของภาครัฐ ด้วยการตรากฎหมายกลางเพียงฉบับเดียว เพื่อรับรองความชอบด้วยกฎหมายของการปฏิบัติราชการและการอนุมัติอนุญาตของภาครัฐตามกฎหมายทุกฉบับ หากได้กระทำลงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

3. พระราชกำหนดแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมที่คิดในอัตรา 7.5% มาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาก ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยผิดนัดสูงมากเช่นนี้ เป็นการซ้ำเติมลูกหนี้และทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความเป็นหนี้ได้ยาก และยังทำให้เจ้าหนี้ยื้อคดีความเพื่อหวังส่วนต่างดอกเบี้ย มีคดีอยู่ที่ศาลเป็นอันมาก นอกจากนี้ วิธีหักเงินเพื่อชำระหนี้ก็ไม่เป็นธรรม คือให้นำไปหักดอกเบี้ยก่อนหักต้นเงิน ทั้งที่ควรหักเงินต้นก่อน จึงไม่มีทางที่หนี้ของลูกหนี้จะลดลงเลย ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้อย่างมาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอให้แก้ไขเป็นว่า ให้นำเงินที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไปหักต้นก่อน ต้นลด ดอกจะลด และแก้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดให้เป็น managed rated โดยลดจาก 7.5% เป็น 3% ในเบื้องต้น ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและคดีรกโรงรกศาล

“เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก จากเดิม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ไม่ควรรอช้า จึงสั่งการให้ออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งต่อมาสภาก็เห็นชอบด้วยโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ความชอบในเรื่องนี้จึงต้องให้เครดิตท่านนายกรัฐมนตรีที่กล้าตัดสินใจออกพระราชกำหนด” นายอนุชาฯ กล่าว 
 


4. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 กฎหมายนี้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ใช้โทษอาญาเพียงเท่าที่จำเป็น ซึ่งโทษปรับนั้นถือเป็นโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา และระบบกฎหมายไทยแต่เดิมมาก็ใช้แต่โทษอาญา ทั้งเรื่องใหญ่ร้ายแรงและเรื่องเล็กเรื่องน้อย เช่น สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ปรับ 2 พันบาท เป็นต้น และเมื่อเป็นคดีอาญา กว่าจะปรับได้ก็ต้องไปแจ้งความดำเนินคดี พนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งอัยการฟ้องศาล กว่าศาลจะพิพากษา ใช้เวลายืดยาวมาก ต้นทุนของรัฐในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายสูงมาก การใช้มาตรการทางอาญาไปเช่นนี้จึงไม่ได้ผล ตรงข้ามกลับมีการนำโทษอาญาไปข่มขู่รีดไถผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปที่ทำผิดเล็กน้อยก็อาจถูกบันทึกทะเบียนประวัติอาชญากรรมด้วยเพราะเป็นความผิดอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเสนอให้กำหนดโทษปรับเป็นพินัยขึ้น โทษปรับอาญาสำหรับความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ร้ายแรงตามกฎหมายกว่าร้อยฉบับจะถูกแปลงเป็นโทษปรับเป็นพินัยแทน และจะไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมสำหรับผู้กระทำความผิดเล็กน้อยเหล่านี้อีกต่อไป เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เป็นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยกฎหมายนี้จะเริ่มบังคับใช้ภายในเดือน ก.พ. 2566 นี้ 

5. พรบ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลปัญหาของลูกหนี้กองทุน กยศ. จำนวน 6 ล้านคน แล้วได้สั่งการในคณะรัฐมนตรีให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับฟังความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กยศ. โดยการปรับลดเพดานทั้งอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดให้มีความเหมาะสม ปรับปรุงงวดการจ่ายชำระหนี้ให้ถี่ขึ้นจาก งวดปี เป็น งวดเดือน และขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้ยาวขึ้นจาก 15 ปี เป็น 30 ปี พร้อมกำหนดให้เมื่อผู้กู้จ่ายชำระหนี้เข้ามาให้นำไปตัด “เงินต้น” ก่อน เพื่อช่วยให้ปลดหนี้ของผู้กู้หมดเร็วขึ้น ทั้งยังยกเลิกให้ไม่ต้องมี “ผู้ค้ำประกัน” รวมถึงการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่จะเอื้อให้ กยศ. สามารถดำเนินภารกิจได้คล่องตัวในการปล่อยกู้ได้หลากหลายเช่น กู้ยืมไป Reskill หรือ Upskill เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและความต้องการแรงงานยุคใหม่

“นายกรัฐมนตรียินดีที่รัฐบาลสามารถผลักดันกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ที่เป็นปัญหาโครงสร้างมาเป็นเวลานาน จนสำเร็จเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอำนวยความสะดวกในการอนุญาตของทางราชการที่เปิดเผยขั้นตอนและระยะเวลาการทำงานทุกกระบวนงานของหน่วยงานของรัฐ ลดภาระประชาชน และสกัดทุจริตในระบบราชการ กฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่อัพเกรดระบบทำงานทันโลกยุคใหม่ กฎหมายแก้ไขดอกเบี้ยผิดนัดมหาโหด และวิธีคิดดอกเบี้ยไม่เป็นธรรมที่ใช้มาเป็นเวลายาวนาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม การคลอดกฎหมายปรับเป็นพินัยเพื่อสางปัญหาการเอาโทษอาญาไปข่มขู่ประชาชน รวมทั้งยกเครื่องกฎหมาย กยศ. ช่วยเด็กไทยอีกกว่า 6 ล้านคน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยการมีกฎหมายที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย อีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.