เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



คืบหน้า ! "กฟผ. เขื่อนวชิราลงกรณ" นำคณะ ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำตรวจสอบสภาพน้ำ พบมีสภาวะน้ำขุ่น


31 ม.ค. 2566, 21:20



คืบหน้า ! "กฟผ. เขื่อนวชิราลงกรณ" นำคณะ ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำตรวจสอบสภาพน้ำ พบมีสภาวะน้ำขุ่น




จากกรณีเขื่อนวชิราลงกรณตรวจสอบพบสภาพน้ำขุ่นในอ่างเก็บน้ำ ผู้บริหารเขื่อนวชิราลงกรณได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นได้ชี้แจงให้ข้อมูลกับผู้ใช้น้ำท้ายเขื่อนถึงสาเหตุว่า เกิดจากสภาพอากาศหนาวเนื่องด้วยอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว และมีลมกรรโชกแรง ทำให้เกิดปรากฏการณ์การพลิกกลับของชั้นน้ำ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติช่วงสั้นๆ และจะกลับคืนสู่สภาพปกติ

วันนี้ 31 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ มอบหมายให้ นายนรภัทร รัตนวรายุทธ ปลัดอาวุโส ลงพื้นที่ร่วมกับนายรักษิต ต้วมศรี หัวหน้ากองบำรุงรักษาโยธาเขื่อนวชิราลงกรณ พร้อมผู้ปฏิบัติงานเขื่อนวชิราลงกรณ และเจ้าหน้าที่ประมง เพื่อร่วมกันตรวจสอบปรากฏการณ์น้ำในเขื่อนฯ ที่เกิดการเปลี่ยนสี จากการตรวจสอบพบว่าน้ำบริเวณสันเขื่อนฯ ได้เกิดการเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลเนื่องจากการการหมุนวนของน้ำด้านใต้เขื่อนซึ่งเป็นตะกอนที่ตีกลับขึ้นด้านบน ประกอบกับอุณภูมิผิวน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงได้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น เบื้องต้นคณะเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งแก่ผู้ประกอบการแพปลา กระชังปลา และแพท่องเที่ยวต่างๆ ในบริเวณเขื่อนฯ เพื่อเตรียมการรับมือ โดยให้จัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเพิ่มออกซิเจน พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้ประมงอำเภอทองผาภูมิ แจ้งแก่ผู้ประกอบการกระชังปลาและแพด้านใต้เขื่อนวชิราลงกรณ ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

นายชวลิต กันคำ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยต่ำสุดอยู่ที่ 14 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การพลิกกลับของชั้นน้ำ คือ การที่ในฤดูหนาว บริเวณน้ำชั้นบนและผิวน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง น้ำด้านบนจะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจมลงด้านล่างของอ่าง ซึ่งจะไปทำให้ชั้นน้ำก้นอ่างพลิกกลับและลอยขึ้นด้านบนแทน การพลิกตัวของน้ำก้นอ่างจะนำพาตะกอนที่ทับถมอยู่ด้านล่างขึ้นมาบนผิวน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบกับปลาหรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำได้ แต่ไม่ส่งผลกระทบกับมนุษย์ สำหรับการดำเนินกิจกรรมการผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มควรเฝ้าระวังให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้เขื่อนวชิราลงกรณ จะติดตามปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบต่อไป

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อต้นปี 2564 สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงก์

https://www.facebook.com/vrkegat.official/posts/pfbid03H23xouEphfkyviZ215LBEL5y5saoVrFy1qze1VNE3TNkfzBmeFfv5pTVW3mUMnGl

ปัจจุบันเขื่อนวชิราลงกรณ (ข้อมูลน้ำวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 14.00 น.) ระดับน้ำเหนือเขื่อน 145.51 เมตร (รทก.) มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำ 5,606.40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 63.28 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนวชิราลงกรณระบายน้ำวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามความต้องการของกรมชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ

 



 


 


คำที่เกี่ยวข้อง : #กฟผ.   #เขื่อนวชิราลงกรณ  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.