เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"สทนช."  เร่งจัดการน้ำพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแก้น้ำท่วม - ฤดูแล้ง 3 จว.อีสานตอนบน


27 ก.ย. 2562, 10:41



"สทนช."  เร่งจัดการน้ำพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแก้น้ำท่วม - ฤดูแล้ง 3 จว.อีสานตอนบน




วันที่ 27 กันยายน 2562  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำคณะลงพื้นที่ติดตามแนวทาง การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อศึกษาวางแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วม

ทั้งนี้  ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ ให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ระยะ 5 ปี คือ ปี 2561- 65 และสร้างการรับรู้กับทุกหน่วยงานให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน ป้องกันบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งของกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน ได้แก่ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร  

ดังนั้น จึงได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ  ที่อยู่ติดแม่น้ำโขง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นครพนม และจังหวัดมุกดาหาร เพื่อดำเนินการศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

 

ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ กล่าวว่า   นอกจากเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว  ยังพัฒนาเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความยั่งยืน  สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยในวันนี้เป็นการนำคณะลงพื้นที่ ที่มีการประกาศตัวเป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมด้านอาหาร ซึ่งน้ำถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันก็จะเกิดการแย่งน้ำได้ในอนาคต จึงต้องเข้ามาดูว่าจะจัดสรรทรัพยากรน้ำ   ที่มีอยู่ให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างไร โดยจะต้องมีการวางหลักการ กฎเกณฑ์ และกติกาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างชัดเจน   เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถวางแผนการทำงานได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการหาวิธีกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำบาดาล น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน เพราะน้ำในการอุปโภคบริโภคมีไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถพึ่งน้ำจากแม่น้ำโขงอย่างเดียวได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีความไม่แน่นอน จึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวความคิด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ในหลาย จุด เพื่อที่จะสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดยหลังจากนี้ จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ในวันนี้ ไปวางแนวนโยบายในภาพรวมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

 

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมคลองผันน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 4 สาย ความยาว 51.26 กิโลเมตร บริเวณบ้านตองโขบ เพื่อลดปริมาณน้ำหลากที่ไหลเข้าสู่ที่ราบตอนล่างบริเวณหนองหาร เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของลำน้ำสายต่างๆ ช่วงที่ไหลเข้าเมือง ลดอิทธิพลน้ำหนุนช่วงท้ายหนองหาร ให้สามารถระบายน้ำส่วนเกินลงลำห้วยน้ำก่ำได้สะดวกขึ้น   ปัจจุบันโครงการฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 และอยู่ระหว่างการก่อสร้างกรมชลประทาน  โดยมีระยะเวลาดำเนินการรวม 5 ปี (พ.ศ.2562-2566) คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2566 นี้ เมื่อแล้วเสร็จ  สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองสกลนคร และอำเภอโคกศรีสุพรรณ โดยการตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสู่หนองหารได้ร้อยละ 40 ช่วยเหลือราษฎรได้ 10,857 ครัวเรือน 33 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล พื้นที่รับประโยชน์ 78,358 ไร่









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.