เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ทิพานัน" ชูผลงานรัฐบาล 6 โครงการสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเด็ก-เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


7 ม.ค. 2566, 09:07



"ทิพานัน" ชูผลงานรัฐบาล 6 โครงการสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเด็ก-เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้




วันนี้ 7 ม.ค. 66   น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากการดูแลสวัสดิการในทุกช่วงวัยแล้ว ยังมุ่งให้เด็กและเยาวชน ได้รับการศึกษาที่ดีมีมาตรฐาน ได้รับโอกาสทั่วถึง เท่าเทียมและทันสมัยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยปัตตานี นราธิวาสและยะลา ที่มีรายงานของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราส่วนเด็กยากจนท่ขัดสนด้านการเรียนรู้ ในช่วงอายุ 5-17 ปี มากที่สุดร้อยละ 7.21 พล.อ.ประยุทธ์จึงเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา  ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วใน 6 โครงการ ดังนี้

1.หลักประกันการเข้าถึงโอกาสการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและคงอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีจำนวนนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 123,309 คน



2.โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสายอาชีพที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความต้องการแรงงานฝีมือใน 10 สาขาวิชาหลัก ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสในพื้นที่ให้เข้าถึงการศึกษาสายอาชีพในระดับระกาศนียบัตรวิชาชีพ  หรือ ปวช. และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง  หรือปวส. จำนวน 521 คน 

3.โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนยากจนหรือด้อยโอกาสที่มีศักยภาพสูงและมีใจรักอยากเป็นครู ได้ศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาตรีในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นชุมชนบ้านเกิด ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่อาจยุบหรือควบรวมได้ (Protected School) ในสังกัด สพฐ. ปัจจุบันมีนักศึกษาครูรักษ์ถิ่นรวม 3 รุ่น (ปีการศึกษา 2563-2564-2565) ที่เมื่อจบการศึกษาจะได้รับการบรรจุจำนวน 156 คน ในโรงเรียนปลายทาง 137 แห่ง 

4.โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) กว่า30 โรงเรียน ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ คุณภาพครู และการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เรียนรู้อย่างมีความสุขและยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนในระยะยาว  ผ่านกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ โดยมีคุณครูเข้าร่วมพัฒนาแล้วจำนวน 725 คน และนักเรียนได้รับการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้จำนวน 8,503 คน


5.โครงการพัฒนาทักษะแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานพัฒนาทักษะอาชีพ (Hard Skill) ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิต (Soft Skill) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพ นำไปสู่การพัฒนาเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่สามารถดึงต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่มาใช้เพื่อออกแบบในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมพัฒนาอาชีพ จำนวน 1,035 คน ผ่านการฝึกอบรมใน 11 หลักสูตรชุมชนเป็นฐาน

และ6.ยะลาโมเดล ต้นแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนยะลา’ เป็นพื้นที่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ตามโมเดล ‘Emergency Classroom’ รองรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาที่มีความพร้อมกลับเข้าเรียน โดยมีแผนการช่วยเหลือดูแลฉุกเฉิน ซึ่งออกแบบโดยผู้อำนวยการโรงเรียน และครูที่เปรียบได้กับแพทย์เฉพาะทาง ให้รักษาดูแลเด็กได้ตามอาการ เพื่อให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไปจนถึงฝั่ง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ประกาศได้ว่า ในพื้นที่ของยะลาไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอีกแล้ว
“สะท้อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมในทุกมิติ โดยเชื่อมั่นว่าผลสำเร็จของทั้ง 6 โครงการจะช่วยยกระดับคุณภาพทางด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”น.ส.ทิพานัน กล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.