เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง "สุเทพ" คดีสร้างโรงพักทดแทน


20 ก.ย. 2565, 15:14



ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง "สุเทพ" คดีสร้างโรงพักทดแทน




วันนี้ ( 20 ก.ย.65 ) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีฮั้วประมูลก่อสร่างโรงพักทดแทน หมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี , พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ , พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ , บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1 - 6 ตามลำดับกรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

โดยคดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย.52 - 18 เม.ย.56 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอ ราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3 - 4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 , 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3 , 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 , 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5 , 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทางไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนให้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และวิธีจัดสรรงบประมาณรายปี

ส่วนวิธีที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเพียงเหตุผลประกอบ ซึ่ง ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการและจัดสรรงบประมาณให้ไม่เกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างและวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะไม่ใช่อำนาจของ ครม.ซึ่งเป็นอำนาจของหน่วยงานรัฐคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การที่จำเลยที่ 1 อนุมัติการจัดจ้างก่อสร้างแบบรายภาค 1 - 9 ภาค และเปลี่ยนเป็นวิธีอิเล็กทรอนิกส์การประมูลรวมกันในครั้งเดียวโดยไม่เสนอให้ ครม.อนุมัติ จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 2 ฐานะหัวหน้าหน่วยงานรักษาการ ผบ.ตร.ได้ใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบตามระเบียบ ครม.การจัดทำรูปแบบ แนวทางรวมถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและขออนุมัติจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงาน และได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลยพินิจเห็นชอบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 - 4 เป็นประธานและเลขานุการคณะกรรมการประกวดราคาฯ ตามลำดับ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ระเบียบ ครม.ในการดูแลให้เกิดความเรียบร้อยในการเสนอราคา แม้ว่าจำเลยที่ 3 - 4 ไม่ได้เสนอบัญชีปริมาณวัสดุก่อสร้างให้ครบถ้วน แต่ราคาทั้งหมดไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในภาพรวม และจำเลยที่ 5 เป็นผู้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเอง เมื่อพิจารณาเอกสารความเห็น ย่อมไม่เกิดความเสียหายและไม่ปรากฎว่าพบว่าจำเลยที่ 3 - 4 แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจึงไม่เป็นความผิด ส่วนจำเลยที่ 5 - 6 โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 - 4 กระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 - 6 กระทำความผิดด้วย มติองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากมีความเห็น พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหก

ภายหลังศาลฎีกาฯมีคำพิพากษานายสุเทพ กล่าวว่า "ตนต้องตกอยู่ภายใต้กระแสการโจมตีว่าเป็นคนเลว คนทุจริต เกือบ 10 ปี อดทนอดกลั้นและอาศัยความจริงเข้ามาต่อสู้ ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รู้ว่าเราตั้งใจทำความดีให้กับชาติบ้านเมือง และประชาชน จะได้รับการคุ้มครอง" พร้อมยืนยันจะไม่ฟ้องกลับคนที่กล่าวหา

ที่มา : แนวหน้า









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.