เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"กรมทางหลวงชนบท" จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสะพานเชื่อมเกาะคอเขา


2 ก.ย. 2565, 12:37



"กรมทางหลวงชนบท" จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสะพานเชื่อมเกาะคอเขา




เมื่อวันที่ 2 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่อาคารจัดเลี้ยงห้องอาหารชิม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กรมทางหลวงชนบทจัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสะพานเชื่อมเกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาและร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตอบข้อซักถาม โดยมีนายพจน์ หรูวรนันท์ ปลัดจังหวัดพังงาเป็นประธานเปิดการประชุม และมีนางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ สส.จังหวัดพังงา ผู้บริการท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านมีการถือป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านผลการศึกษาในเรื่องการกำหนดเส้นทางก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน



โดยกรมทางหลวงชนบท ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสะพานเชื่อมเกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ให้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 ถึง วันที่ 19 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 270 วัน ซึ่งล่าสุดได้สรุปผลการศึกษาเส้นทางโครงการที่เริ่มจากถนนเพชรเกษมไปถึงเกาะคอเขารวม4 เส้นทาง เส้นทางที่1 เป็นเส้นทางสายหลักเข้าออกหมู่บ้านน้ำเค็ม ไปสร้างสะพานใกล้กับปากคลองเชื่อมทะเลอันดามัน ระยะทาง 4.667 กม. เส้นทางที่2จุดเริ่มต้นใกล้เคียงกับเส้นทางสายหลักปัจจุบัน และไปเชื่อมกับเส้นทางที่ 1 มีระยะทาง4.978 กม.เส้นทางที่3 จุดเริ่มต้นอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านไอทีวีแล้วมาเชื่อมกับเส้นทางที่1 ระยะทาง 6.714 กม. และเส้นทางที่4 เริ่มต้นจากใกล้สะพานบางม่วง เลียบคลองบางม่วงผ่านป่าชายเลนไปจุดสร้างสะพานปากคลองบางม่วงข้ามไปเกาะคอเขา ระยะทาง 4.132 กม. ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้มีข้อสรุปให้เส้นทางทางที่3 ดีที่สุด ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันคัดค้านผลการศึกษา และได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านให้กับหลายหน่วยงานแล้ว


นส.อัญชนา โหล่เหลียน อายุ 32 ปี ชาวบ้านน้ำเค็ม กล่าวว่า ชาวบ้านน้ำเค็มไม่ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะคอเขา แต่คัดค้านในเรื่องของการศึกษาเส้นทางก่อสร้างสะพาน ซึ่งเส้นทางที่บริษัทที่ปรึกษาเลือกนั้นเป็นเส้นทางที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านกว่า 98 ครัวเรือน ที่จะต้องถูกเวนคืนที่ดิน จึงไม่ขอยอมรับผลการศึกษาในครั้งนี้และขอเรียกร้องให้กรมทางหลวงชนบทเลือกเส้นทางที่4 ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่น้อยที่สุด นายไมตรี จงไกรจักร ชาวบ้านน้ำเค็ม ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยว่า คนน้ำเค็มทุกคนเข้าใจความยากลำบากของพี่น้องเกาะคอเขา เมื่อความต้องการเพื่อนบ้านเรือนเคียงต้องการสะพาน คนน้ำเค็มจึงสนับสนุนสะพานข้ามเกาะ แต่ทางเลือกที่เหมาะสม ทั้งด้านความเสี่ยงเรื่องปากร่อง การสัญจรของเรือประมงพาณิชย์ และชีวิตประชาชนน้ำเค็ม จึงเสนอทางเลือกที่ 4 คือริมคลองบางม่วง เมื่อทุกฝ่ายทั้งชาวน้ำเค็ม เกาะคอเขา สนับสนุนตรงกัน ถือว่า จุดเริ่มต้นตรงกันสะพานจะเดินหน้าต่อได้ ปัญหาเรื่อง ป่าชายเลน อาจคิดว่ายาก แต่เพื่อความจำเป็น ก็ทำได้ง่ายกว่ากับการรื้อบ้านประชาชน เพราะฉะนั้นทางเลือกที่ดีและเหมาะสม จึงต้องสร้างตามความต้องการและตกลงร่วมกันของประชาชน บริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ อย่าบิดเบี้ยวมติ ประชาชน อีกทั้งกรรมการระดับจังหวัดมีมติเลือกเส้นทางที่ 4 แล้วด้วย ด้านนายกฤษ ศรีฟ้า อดีตประธานหอการค้าจังหวัดพังงา กล่าวว่า หลังจากที่งบประมาณการศึกษาก่อสร้างสะพานเกาะคอเขา โดนระงับไปตั้งแต่ปี 2549 แล้ว กระทั่งปี 2559 คณะกรรมการ กรอ.จังหวัดพังงาได้เห็นชอบให้ กรมทางหลวงชนบท นำโครงการดังกล่าวเข้ามาเสนอต่อ ครม.สัญจร อีกครั้ง และมี ส.ส.กันตวรรณ ตันเถียร(กุลจรรยาวิวัฒน์) เป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดโครงการนี้ ซึ่งครั้งนั้น กรอ. ได้เสนอเส้นทางเลียบคลองบางม่วง(เส้นทางที่4) ต่อ ครม. แต่กลับพบว่าเส้นทางที่4โดนตัดออกไปในวันปฐมนิเทศโครงการ นอกจากนั้นยังไม่พบผลการศึกษาโดยเฉพาะบริเวณก่อสร้างสะพานซึ่งเป็นสันทรายและเป็นพื้นที่เปราะบางรวมถึงเกณฑ์การให้คะแนนที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย ขณะที่นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา กล่าวว่า ในการเข้ามาร่วมประชุมทุกครั้ง ตนไม่เคยได้รับหนังสือเชิญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย มีเพียงชาวบ้านที่ส่งข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆเพื่อให้ช่วยเข้ามาร่วมรับฟัง และเสนอแนะข้อคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมาตนเองและคุณ กฤษ ศรีฟ้า ถึงจะอยู่คนละพรรคการเมืองกัน แต่ก็เป็นอีก2คนที่พยายามให้เกิดโครงการ เช่นเดียวกับชุมชนบ้านน้ำเค็มและเกาะคอเขา ที่อยากให้เกิดสะพานข้ามไปยังเกาะคอเขา แต่การเกิดโครงการต้องเป็นการสร้างโอกาสไม่ใช่ทำลายวิถีชีวิตให้กับประชาชน และครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และเป็นคำพูดที่ออกจากใจ ไม่ใช้สุ่มส่งเอกสารให้คนบางกลุ่ม จึงอยากให้หน่วยงานที่ศึกษาทำการศึกษาที่รอบด้าน โดยก่อนหน้า ตนได้เคยนำเรื่องปัญหาการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะคอเขา เข้าปรึกษาหารือในสภาฯ หลังพบปัญหาที่เกิดจากประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กระทั่งได้รับการแก้ไข และนำมาสู่งบประมาณในการศึกษาและจากการติดตามพบว่า จากปี 2559 กรมทางหลวงชนบทมีเพียงสายที่4 (เลียบคลองบางม่วง) ในการเสนอ ครม. แต่เมื่อได้รับงบประมาณ กลับเหลือเพียงสาย1 สาย2 และ3 เท่านั้น โดยสาย 1-3 จะไปบรรจบที่บ้านน้ำเค็ม แต่สายที่4 ซึ่งมีความแตกต่างและไม่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนกลับหายไปจากทางเลือก ส่วนข้อสรุปที่ว่าควรเป็นสาย3 เพาะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและป่าชายเลนจึงสร้างได้รวดเร็ว แต่ในทางกลับกันชุมชนบ้านน้ำเค็มเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิมาแล้วครั้งหนึ่ง และกลับมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เดิม และพบต่อไปว่าตัวเลขการก่อสร้างของทั้ง2เส้นทางมีมูลค่าที่ไม่ต่างกันมาก ถึงการเวนคืนจะมีมูลค่าที่สูง แต่คงเทียบไม่ได้กับมูลค่าทางจิตใจ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาให้รอบด้าน ก่อนจะทำการสรุป






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.