เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



พาณิชย์ จ่อปรับขึ้นราคา "ผลิตภัณฑ์นม" เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร


20 ก.ค. 2565, 16:16



พาณิชย์ จ่อปรับขึ้นราคา "ผลิตภัณฑ์นม" เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร




วันที่ 20 ก.ค. 65 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการรับหนังสือจากชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อเร่งรัดให้พิจารณาปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม ภายหลังคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม(มิลค์บอร์ด) อนุมัติขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบเกษตรกรกิโลกรัม (กก.) ละ 2.25 บาท จากกก.ละ 17.50 บาท เป็นกก.ละ19.75 บาท และราคาหน้าโรงงานขึ้นเป็นกก.ละ 20.50 บาท จาก กก. 19.00 บาท ว่า ได้แจ้งเกษตรกรว่า รอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำมติของมิลค์บอร์ด เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาการปรับราคาผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับมติมิลค์บอร์ด โดยยึดหลักให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ โดยเกษตรกรยังขายน้ำนมดิบได้ในราคาดี ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมยังทำธุรกิจต่อไปได้ ไม่หยุดผลิตจนเกิดปัญหาขาดแคลนและผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด



ตอนนี้ ยังตอบไม่ได้ว่า ผลิตภัณฑ์นม ที่ผลิตจากน้ำนมดิบของเกษตรกรในประเทศ จะปรับขึ้นราคาเท่าไร และมีผลิตภัณฑ์ใดบ้าง เพราะผู้ผลิตแต่ละรายมีต้นทุนต่างกันตามแต่ละผลิตภัณฑ์, บรรจุภัณฑ์, การบริหารจัดการ รวมถึงส่วนเหลื่อมกำไร ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ แต่ถ้าผู้ผลิตรายใดยังพอมีกำไรอยู่ ก็อยากให้ช่วยตรึงราคาขายไว้ก่อนเพื่อช่วยผู้บริโภค แม้ต้องซื้อนมดิบจากเกษตรกรในราคาสูงขึ้นตามมติมิลค์บอร์ด”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์นม เช่น นมสดพาสเจอร์ไรซ์, นมสเตอริไรซ์, นมยูเอชที (ไม่รวมนมเปรี้ยว) และนมผงสำหรับเลี้ยงทารกเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 การจะปรับขึ้นราคาขาย ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน ที่ผ่านมา ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมหลายราย ได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาเข้ามาที่กรมแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา


ส่วนผลิตภัณฑ์นมผง ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 36 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น จนผู้ผลิตอาจต้องปรับขึ้นราคาขาย นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการนมผงบางราย ทำเรื่องขอปรับราคาเข้ามาที่กรมเช่นกัน แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา สำหรับกรณีที่ผู้ผลิตนม “โฟร์โมสต์” เลิกผลิตและทำตลาดนมพาสเจอไรซ์ในไทยนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายการตรึงราคา แต่อาจเป็นผลจากการปรับรูปแบบธุรกิจ ที่ผลิตภัณฑ์นมชนิดใด ไม่สามารถทำตลาดได้ก็ต้องหยุดผลิต ซึ่งอาจเป็นเพียงชั่วคราวก็ได้

ด้านนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยจำกัด กล่าวว่า เกษตรกรโคนมทั่วประเทศ ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดพิจารณาปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมตามต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยง ที่มีต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นกว่า 30% ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา โดยมีทั้งต้นทุนอาหารวัว ที่มีส่วนผสมจากปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง, ค่ายา, ค่าขนส่ง, ค่าไฟฟ้า ฯลฯ หากกระทรวงพาณิชย์ไม่ให้ขึ้นราคา ก็เกรงว่า ผู้ผลิตนมอาจไม่ซื้อน้ำนมจากเกษตรกร และใช้นมผง ที่ราคาถูกกว่าแทน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนักขึ้น

“การปรับราคาซื้อน้ำนมดิบครั้งนี้ ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนที่ปรับขึ้นไปกว่า 40% แม้จริงๆ แล้วเกษตรกรขอขึ้นราคากก.ละ 3 บาท แต่มิลค์บอร์ดให้ขึ้น 2.25 บาท ถือว่ายังดี เพราะเกษตรกรยังมีกำไรกก.ละ 2 บาท ในขณะเดียวกัน ได้รับการประสานจากกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเสนอให้ครม.วันที่ 2 ส.ค.นี้ เห็นชอบมติมิลค์บอร์ด”

สำหรับสถานการณ์ของผู้เลี้ยงโคนม ขณะนี้ ส่วนใหญ่ขาดทุน จากต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นมาก และรายย่อยทยอยเลิกเลี้ยงหรือส่งโคเข้าโรงเชือด ส่งผลให้เหลือผู้เลี้ยงสมาชิกทั่วประเทศเพียง 18,000 ครัวเรือน จากเดิม 24,000 ครัวเหรือและปริมาณน้ำนมดิบ ที่เกษตรกรทำเอ็มโอยูกับผู้ผลิตนมเหลือวันละ 3,200 ตัน จากปกติวันละ 3,500 ตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคเริ่มกลับมาจากการเปิดเทอม ส่งผลให้เริ่มเกิดภาวะน้ำนมดิบตึงตัว หวังว่า การปรับขึ้นราคา จะช่วยให้เกษตรกรยังคงประกอบอาชีพต่อไปได้






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.