เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ชูพลังสตรีกุญแจสำคัญขับเคลื่อนประเทศ ให้คำมั่นส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ


23 มิ.ย. 2565, 19:50



นายกฯ ชูพลังสตรีกุญแจสำคัญขับเคลื่อนประเทศ ให้คำมั่นส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ




วันนี้ ( 23 มิ.ย.65 ) เวลา 17.30 น. ณ ห้องคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจาก 52 ประเทศ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะได้รับประสบการณ์ดี ๆ จากบรรดาสุดยอดผู้นำสตรีทั่วโลก พร้อมชื่นชมการจัดงานแบบรักษ์โลกมีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในการประชุม สอดคล้องตามหลักการของไทย ซึ่งแสดงได้ว่าไทยพร้อมเดินหน้าร่วมรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ไปพร้อมกับทุกคน
 
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงสำคัญ รัฐบาลไทยได้ริเริ่ม เดินหน้า และดำเนินการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพของตนเอง รวมถึงการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสตรี เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ทุกกลุ่มทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้สังคมตระหนักว่า ความเสมอภาคเป็นเป้าหมายที่สังคมต้องการ



นายกรัฐมนตรีระบุว่า สตรีมีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้บริโภคและในฐานะผู้ผลิต โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผู้หญิงกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
 
หนึ่งในตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือ การส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังนำไปสู่สันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ โดยรัฐบาลเชื่อมั่นในศักยภาพผู้หญิง ได้จัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมอาชีพ ให้ความรู้และช่องทางการตลาด นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงเป็นผู้สอดส่องดูแล ดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน โดยช่วงโควิด-19 อสม กว่าล้านคนที่มากกว่า 90% เป็นผู้หญิง ที่คอยดูแลสุขภาพ กระตุ้นเตือนให้คนออกมารับการฉีดวัคซีน
 
รัฐบาลให้ความสำคัญ และส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในยุคดิจิทัล โดยร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรีในสถานประกอบกิจการขึ้น
 
ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมรับรองเอกสารวาระการดำเนินงานในการสร้างความตระหนักในเรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียนร่วมกับผู้นำอาเซียน และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 5 ได้แก่ การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน โดยประเทศไทยยังจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายนนี้อีกด้วย


อย่างไรก็ดี รัฐบาลตระหนักดีว่ายังมีกลุ่มสตรีที่ไม่สามารถเข้าถึงความเท่าเทียม และพยายามที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งโอกาส และความเท่าเทียมในการพัฒนาความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งการหยุดความรุนแรงในสตรี โดยรัฐบาลหวังเห็นส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเท่าเทียมอย่างมีเอกภาพ
 
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การเสริมสร้างและพัฒนาบทบาทสตรี ไม่ใช่เรื่องของสตรีฝ่ายเดียว และได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของสตรี โดยการสร้างทัศนคติที่ดี ให้มีความเสมอภาค และเท่าเทียมระหว่างเพศ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ลด และขจัดปัญหาจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้พลังสตรีมีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเต็มศักยภาพ เป็นกุญแจสำคัญ ในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาสตรีให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล
 
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมผู้จัดงานทุกคน การจัดประชุมนี้ ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ และส่งเสริมบทบาทสตรีในการพัฒนาเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกในประเทศไทย และอวยพรให้การประชุมบรรลุผลสำเร็จทุกประการ






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.