เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เอาจริง! กทม.ลุยกวาดล้างส่วยเทศกิจ สั่งส่งเรื่องร้องเรียนตรงถึงรองผู้ว่าฯ


13 มิ.ย. 2565, 18:22



เอาจริง! กทม.ลุยกวาดล้างส่วยเทศกิจ สั่งส่งเรื่องร้องเรียนตรงถึงรองผู้ว่าฯ




วันนี้ (13 มิ.ย.65) เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ครั้งที่ 6/2565 เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางสาวธนพร แดงจิ๋ว ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกรุงธน 3 สำนักเทศกิจ

ในที่ประชุมสำนักเทศกิจสรุปนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับด้านเทศกิจ โดยสำนักเทศกิจเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ 10 นโยบาย ประกอบด้วย 1.เทศกิจผู้ช่วยจราจร 2.สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ ช่วยดูแลพื้นที่การค้า 3.ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ 4.เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย 5.ใช้ข้อมูลอาชญากรรมกำหนดพิกัดอันตราย เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย 6.ทางเท้าเดิมโล่ง สะอาด เป็นระเบียบ 7.แจ้งปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ ผ่านแพลตฟอร์มฟองดูว์8.จัดชุดปฏิบัติการสำรวจตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานในเมือง 9.กวดขันจับ/ปรับ การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างจริงจัง และ10.ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน 



สำหรับนโยบายซึ่งสำนักเทศกิจเป็นหน่วยงานสนับสนุน  16 นโยบาย ประกอบด้วย 1.พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) 2.รถหยุด รถติด ลดหยุด ลดติด 3.ตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ 4.ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ 5.หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร (hawker center) 6.ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก 7.ใช้ CCTV กวดขั้นวินัยจราจร 8.ปลูกฝังจิตสำนึก ส่งเสริมการสร้างระเบียบ กวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด 9.รณรงค์สิทธิและระเบียบวินัยพลเมืองในเรื่องจราจร ความสะอาด คอร์รัปชั่น สิ่งแวดล้อม 10.เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ 11.เปิดบ้านอุ่นใจ ที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน 12.คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) 13.กำหนดหน้าที่ และเป้าหมายของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตและระดับจังหวัด 14.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับเขต 15.เปิดข้อมูลการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้เป็นสาธารณะ และ16.กำกับดูแลและเร่งคืนผิวจราจรการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อการจราจรที่คล่องตัว

สำหรับการดำเนินการตามโครงการจัดระเบียบหาบเร่ - แผงลอย กรุงเทพมหานครขอความเห็นชอบกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อขอกำหนดพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ได้รับความเห็นชอบ 86 จุด อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน 9 จุด เจ้าพนักงานท้องถิ่นลงนามประกาศแล้ว 55 จุด อยู่ระหว่างเสนอเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อพิจารณา 31 จุด ส่วนการดำเนินการโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.61- 6 มิ.ย.65 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 41,566 ราย ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือน 3,865 ราย ดำเนินคดี 37,701 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 45,606,800 บาท โดยระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย.65 เทศกิจสำนักงานเขตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 135 ราย แยกเป็นประชาชนทั่วไป 119 ราย วินจักรยานยนต์ 14 ผู้ให้บริการแกร็บ 2 ราย ราย ปรับเป็นเงิน 140,200 บาท 

ด้านการดำเนินการกรณีป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.61-6 มิ.ย.65 เทศกิจสำนักงานเขต จัดเก็บได้ 235,251 ป้าย แจ้งความดำเนินคดี 51 ราย จับ-ปรับ 5,753 คดี ปรับเป็นเงิน 15,849,100 บาท โดยระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย.65 เทศกิจสำนักงานเขตจัดเก็บได้ 550 ป้าย จับปรับ 13 คดี ปรับเป็นเงิน 26,500 บาท รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับซากรถยนต์ จากการสำรวจซากยานยนต์ที่ถูกจอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะมีจำนวน 1,189 คัน เคลื่อนย้ายแล้ว 1,178 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย  1,039 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 139 คัน คงเหลือซากยานยนต์ที่รอเคลื่อนย้าย 11 คัน สถานที่เก็บซากยานยนต์ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร(หนองแขม) มีซากยานยนต์ที่เก็บรักษา 76 คัน  สถานที่เก็บซากยานยนต์บริเวณใต้ทางด่วน สี่แยกประเวศ เขตประเวศ มีซากยานยนต์ 14 คัน 


รวมถึงโครงการเทศกิจจราจร ในเดือน พ.ค.65 ซึ่งเปิดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.65 ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน สถานศึกษา จุดวิกฤตจราจร ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกกับเด็กนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป พร้อมดำเนินการจัดระเบียบการเว้นระยะห่างทางสังคมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บริเวณโรงเรียนในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,710 ราย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เทศกิจ 511 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 119 ราย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน 26 ราย เจ้าหน้าที่ครูและนักเรียน 550 ราย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 490 ราย ในส่วนของเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่จราจรบริเวณหน้าโรงเรียน กทม. 261 แห่ง จำนวนเทศกิจ 397 ราย บริเวณหน้าโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 44 แห่ง จำนวนเทศกิจ 56 ราย บริเวณหน้าโรงเรียน เอกชน 41 แห่ง จำนวนเทศกิจ 58 ราย รวมเจ้าหน้าที่เทศกิจปฏิบัติหน้าที่จราจร 511 ราย ในโรงเรียนทั้งหมด 346 แห่ง

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักเทศกิจได้จัดประชุมหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 เขต เดือนละ 1 ครั้งเพื่อกำชับการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของคณะผู้บริหาร ในครั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการทำงานนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มี 10 นโยบายที่สำนักเทศกิจเป็นหน่วยงานหลัก และ 16 นโยบายที่ไปร่วมดำเนินการกับหน่วยงานอื่น โดยใน 10 นโยบายจะมีการรายงานผลการทำงานทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ตรงตามเป้าหมายนโยบายของผู้ว่าฯ ซึ่งหลายๆ นโยบายก็สอดคล้องกับที่ดำเนินการอยู่แล้ว ต้องมีปรับเป้าหมายบ้าง ขณะนี้หลายเขตก็ได้ดำเนินการตามนโยบายใหม่แล้ว 

สำหรับปัญหาการการทุจริตของเทศกิจได้กำชับให้ผู้บริหารและหัวหน้าฝ่ายเทศกิจของเขตต้องดูแลเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ปฏิบัติตามแนวทางกฎหมาย เรื่องเหล่านี้ก็จะลดน้อยลง พร้อมกำชับว่า จากนี้ไปหากมีเรื่องร้องเรียนประเภทนี้ ได้สั่งการให้ส่งเรื่องให้ตนดูทุกเรื่อง และจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบด้านวินัย ทั้งนี้ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง เริ่มมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหาบเร่แผงลอยเข้ามาแล้ว ซึ่งตนได้รับเรื่องและจะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ในสัปดาห์นี้ 

“เรื่องส่วยส่วนใหญ่ในแต่ละปีที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องร้องเรียนของหาบเร่แผงลอย ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำไม่ถูกกฎหมายทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ถูกเรียกรับเงินที่ปฏิบัติไม่ถูกกฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่ใช้ช่องว่างเรียกรับผลประโยชน์ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ควรทำ หากดำเนินการตามกฎหมายก็จบ แต่หากไปเรียกรับสินบนแม้จะเป็นเงินไม่มากก็อาจทำให้บางคนที่เดือดร้อนต้องมีชีวิตลำบาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ควรทำ ยืนยันว่าปัญหาการทุจริตเรื่องนี้สามารถควบคุมดูแลได้” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.