เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กรมการแพทย์ ยันหลังสงกรานต์เตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 เพียงพอ


22 เม.ย. 2565, 15:00



กรมการแพทย์ ยันหลังสงกรานต์เตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 เพียงพอ




วันนี้ ( 22 เม.ย.65 ) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เตียงรองรับสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากข้อมูลหลังเทศกาลสงกรานต์ 1 สัปดาห์พบการเข้ารักษาตัวภาพรวมลดลงชัดเจน ทั้งเตียงระดับ 1 และการรักษาตัวใน CI แต่เตียงระดับ 3 และระดับ 2 ยังทรงตัว แต่เตียงระดับ 2.1 ลดลง

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตและเตียงระดับ 3 มีการทรงตัว เนื่องจากผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ กว่าจะมีอาการข้อมูลจะดีเลย์ 2 สัปดาห์ ไม่ใช่ว่ายอดผู้ติดเชื้อสูง คนใส่ท่อช่วยหายใจจะสูงตามทันที ต้องรอเวลาตามมาประมาณ 1-2 สัปดาห์ จำนวนการใช้เตียงจะพบในอีสานมาก แต่ก็ยังบริหารจัดการได้ เช่น อุดรธานี เมื่อคนไข้เพิ่ม ก็ขยายเตียงจาก Non โควิด เป็นโควิด ซึ่งไม่มีปัญหา ภาพรวมครองเตียงทั้งประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 30 ยืนยันว่า เตียงระดับ 1 และ 2 รวมทั้งระดับ 3 เพียงพอรองรับผู้ป่วย ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่แน่ใจ มีอาการโรคของตัวเองพอสมควรขอให้แอดมิท



สถานการณ์โควิดในเด็ก การติดเชื้อเทียบเดือนเมษายน 2564 และมกราคม 2565 พบเพิ่ม 2 เท่า แต่อัตราความรุนแรงและอัตราเสียชีวิตไม่ได้สูงมาก โดยการเสียชีวิตระลอกเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ ร้อยละ 0.018 ขณะที่เดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.017 ซึ่งเด็กเสียชีวิตระลอก มกราคม 2565 พบการเสียชีวิตในเด็กน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า ร้อยละ 50 และทั้ง 2 ระลอกพบเด็กเล็กทุกกลุ่มอายุที่มีโรคร่วมประมาณ ร้อยละ 32.7

ปัจจัยฉีดวัคซีนค่อนข้างสำคัญ เพราะข้อมูลไม่ได้ฉีดวัคซีนในเด็กเสียชีวิตมีถึงร้อยละ 95 อย่างไรก็ตาม อัตราครองเตียงเด็กยังอยู่ที่ร้อยละ 46 ซึ่งเตียงมีเพียงพอ จำนวนกุมารแพทย์กระจายทั้งประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชนกว่า 1,900 คน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นตัวเลขการประเมินหลังสงกรานต์ 1 สัปดาห์ แต่ต้องรอดูแอฟเฟคอีก 1 สัปดาห์ ถ้าจะให้ดีต้องรอก่อนสิ้นเดือน ซึ่งจะเห็นตัวเลขเรื่องเสียชีวิตจริงๆ จากเทศกาลสงกรานต์


สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิดตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ หรือ CPG กรมการแพทย์ จะมี 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอักเสบแต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ตัวใดตัวหนึ่ง ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด โดยประเมินจากประวัติวัคซีนและปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และกลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน หรือพิจารณาให้เรมดิซิเวียร์เร็วที่สุด

ส่วนแนวทางรักษาการรักษาในผู้ป่วยเด็ก แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอาการไม่รุนแรง ให้ฟาวิพิราเวียร์ชนิดเม็ดหรือน้ำ ในกลุ่ม และกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง ให้ยาเรมดิซิเวียร์ ส่วนการรักษาหญิงตั้งครรภ์ ให้เรมดิซิเวียร์ และอาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ในไตรมาสที่ 2-3 โดยพิจารณาเป็นรายกรณี






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.