เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ หารือรองเลขาธิการสหประชาชาติ แสวงหาแนวทางการเติบโต-พัฒนาที่ยั่งยืน


28 มี.ค. 2565, 16:31



นายกฯ หารือรองเลขาธิการสหประชาชาติ แสวงหาแนวทางการเติบโต-พัฒนาที่ยั่งยืน




วันนี้ ( 28 มี.ค.65 ) เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางอามีนา เจ โมฮัมเหม็ด (Ms. Amina J. Mohammed) รองเลขาธิการสหประชาชาติ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ครั้งที่ 9 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับในโอกาสเยือนไทย และชื่นชมรองเลขาธิการฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาของสหประชาชาติท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของรองเลขาธิการฯ อย่างเต็มที่ พร้อมเชื่อมั่นว่า สหประชาชาติจะสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และตอบสนองต่อความท้าทายของโลกปัจจุบัน ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ ไทยมุ่งส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องและส่งเสริมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและSDGs



รองเลขาธิการฯ รู้สึกยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรี การหารือวันนี้จะเป็นโอกาสอันดีต่อความร่วมมือระหว่างไทยและสหประชาชาติ ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค และสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง สหประชาชาติมุ่งแสวงหาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไทยเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือระดับภูมิภาคไปสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายระดับโลก ทั้งปัญหาความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และการเงิน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับโรคระบาด พร้อมกล่าวชื่นชมบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานสาธารณสุขของไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ 
 
นายกรัฐมนตรีและรองเลขาธิการฯ ต่างเห็นพ้องว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความขัดแย้งของประเทศต่างๆ เป็นความท้าทายสำคัญต่อการบรรลุ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านเยาวชนและด้านเอกชน ภายใต้คณะกรรมการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และไทยยังจัดทำรายงาน Voluntary National Review (VNR) เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของไทย รวมทั้งไทยได้นำปัญหาและอุปสรรคมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคนรุ่นใหม่ ให้มีฐานรากที่มั่นคง ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งรองเลขาธิการฯ ชื่นชมที่ไทยรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ พร้อมชื่นชมว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเข้ามามีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่และภาคประชาสังคม มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ


ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหานี้ ไทยร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งการเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส และจัดส่งแผนงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ตามกรอบเวลา นอกจากนี้ ไทยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และเชื่อว่าไทยจะสามารถยกระดับ NDC ของไทยขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ด้านรองเลขาธิการฯ กล่าวชื่นชมไทยที่มีบทบาทสำคัญ และมีส่วนร่วมในการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด โดยยินดีพิจารณาหารือเพิ่มเติมในเรื่องการสนับสนุนเพื่อให้ไทยและประเทศกำลังพัฒนาสามารถบรรลุเป้าหมายได้






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.