เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล เผยผลวิจัยพบพลาสติกในปลาทูหวังกระตุ้นปัญหาขยะ


11 ก.ย. 2562, 10:07



ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล เผยผลวิจัยพบพลาสติกในปลาทูหวังกระตุ้นปัญหาขยะ




                              จากกรณีที่มาเรียม พะยูนน้อย ได้ตายจากสาเหตุกินถุงพลาสติกเข้าไป  กระทั่งต่อมาทางสื่อโซเชียลได้มีการแชร์ข้อมูลจากเพจศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง  เกี่ยวกับการพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูไทย ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น  ประกอบไปด้วยพลาสติกลักษณะต่างๆ เช่น เส้นใย ชิ้น แท่ง และกลิตเตอร์  ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96  ทำให้มีชาวโซเชียลต่างให้ความสนใจและเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

                              ล่าสุดผู้สื่อข่าว onb news ได้ลงพื้นที่ไปยังศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง เพื่อสอบถามข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวกับงานวิจัยและความเป็นมาของงานวิจัยดังกล่าว  โดย นางสาวเสาวลักษณ์ ขาวแสง อายุ 30 ปี ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง กล่าวว่า  จุดเริ่มต้นของการวิจัยเนื่องมาจากการที่ทางศูนย์ฯ ได้มีการเก็บขยะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-09.30 น.  จากนั้นก็จะนำมาแยกเป็นประเภทต่างๆ แล้วชั่งน้ำหนัก เพื่อเป็นการจดบันทึกข้อมูลว่า ในแต่ละรอบเดือน ในแต่ละรอบปี มีปริมาณขยะในแต่ละชนิดประมาณเท่าไหร่  กระทั่งได้มาเจอปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในบริเวณหาดเจ้าไหม  ซึ่งมีปลาเศรษฐกิจทั่วไปที่ทุกคนสามารถบริโภคได้ และมีราคาที่ไม่สูงเกินไป อยู่เป็นจำนวนมาก

                              ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงได้เริ่มเก็บตัวอย่างปลาทู มาจากกลุ่มประมงขนาดเล็ก เฉพาะน่านน้ำในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม  แล้วนำปลามาแยกในส่วนของกระเพาะเข้า Lab ปฏิบัติการ จึงได้พบไมโครพลาสติกประมาณ 78 ชิ้น ต่อ 1 กระเพาะ จึงทำให้เกิดงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมา  ซึ่งโดยหลักวิชาการทั่วไป ไมโครพลาสติกจะมีขนาดประมาณ 1-5 มิลลิเมตร และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ เพราะมีขนาดเล็กมาก  เพราะเกิดมาจากการแตกหักของพลาสติกชิ้นใหญ่ในประเภทต่างๆ  แล้วด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ความเค็ม กระแสน้ำ จะทำให้พลาสติกแตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ เรื่อยๆ  จนกลายเป็นไมโครพลาสติก และปลาทูได้กินเข้าไปดังกล่าว

 



                              ผู้สื่อข่าว onb news สอบถามว่า เมื่อปลาทูได้กินไมโครพลาสติกเข้าไป จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของปลาได้อย่างไรบ้าง  ทางเจ้าหน้าที่ กล่าวว่า ขณะนี้ทางศูนย์ฯ ยังไม่ได้วิจัยถึงตัวปลาว่า จะได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งสามารถบ่งบอกว่าไก้ว่าขยะเหล่านี้มาจากไหน  แต่การวิจัยในครั้งนี้เพื่อต้องการที่จะให้ผู้คนตระหนักว่า ควรจัดการขยะอย่างไรให้ถูกวิธี และเป็นเพียงแค่ข้อมูลว่าระบบนิเวศตอนนี้มันเป็นยังไง  เพราะถือเป็นวิกฤตขยะทางทะเลแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยแก้กันที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ โดยเฉพาะการช่วยกันลดการทิ้งขยะ  ส่วนในอนาคตทางศูนย์ฯ จะทำการวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกเพิ่มเติม ในหอยตะเภา หอยชักตีน และหอยผีเสื้อ  ซึ่งเป็นหอยชื่อดังประจำถิ่นของ จ.ตรัง และเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คนนิยมบริโภคกันมาก

                              อย่างไรก็ตาม จากการที่มีสื่อโซเชียลกระจายข่าวเกี่ยวกับเรื่องการพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูไทย จนอาจทำให้ผู้คนเริ่มตื่นตระหนก ถึงขั้นไม่กล้ากินปลาทูนั้น  แต่จริงๆ แล้วขยะเหล่านี้คงไม่ได้อยู่ในเฉพาะปลาทูอย่างเดียว และไม่ได้เฉพาะเจาะจงบริโภคเฉพาะตัวของกระเพาะ  เนื่องจากยังคงวิจัยต่อไปว่าในเนื้อเยื่อของปลามีการพบไมโครพลาสติกหรือไม่ด้วย ซึ่งไม่ถึงขั้นที่จะต้องตัดปลาจำพวกนี้ออกจากระบบห่วงโซ่อาหาร  เพียงแต่เมื่อผลการวิจัยออกมา เราก็ควรยอมรับความจริง และอยากให้ตระหนักถึงเรื่องการไม่ทิ้งขยะให้มากที่สุด

 


 

 

 

 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.