เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สุรินทร์ จัดงานวันช้างไทย ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ช้างควาญช้าง


13 มี.ค. 2565, 14:53



สุรินทร์ จัดงานวันช้างไทย ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ช้างควาญช้าง




วันนี้(13 มี.ค.2565) ที่ศูนย์คชศึกษา (คต-ชะ-สึก-สา) บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ร่วม อบจ.สุรินทร์ จัดงาน "วันช้างไทย" ประจำปี 2565 ที่ มีนาย เสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายศิริศักดิ์ ร่วมพัฒนา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สุรินทร์ ในนามคณะกรรมการจัดงาน ในพิธีเปิดงาน "วันช้างไทย" ประจำปี 2565 พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมจัดงานวันช้างไทยขึ้น

ได้นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป พิธีสงฆ์ สวดทักษิณานุปทาน การทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่หมอช้าง ควาญช้าง และช้างที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อเป็นการเชิดชูบุญคุณของช้างไทย เช่นไหว้ศาลปะกำ, การบวงสรวงพระพิฆเนศวร การเลี้ยงอาหารช้าง และการจัด นิทรรศการภาพถ่าย คชศาสตร์ (คต-ชะสาด) ชาวกูยและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของช้าง ไทย ถือว่าเป็น คุณูปการของแผ่นดินไทย รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการโลกของช้าง

สำหรับความเป็นมาของการจัดงาน สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26พฤษภาคม 2541 ได้กำหนดให้วันที่ 13มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย โดยเล็งเห็นว่าหากมี การสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากยิ่งขึ้นจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของช้าง ที่ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณูปการเป็นอย่างยิ่ง ต่อแผ่นดินไทย ประกอบกับจังหวัดสุรินทร์เป็นถิ่นเมืองช้าง มีความผูกพันกับ ช้างไทยมาตั้งแต่โบราณกาล จึงได้ร่วมกันจัดงาน "วันช้างไทย" ประจำปี 2565




การจัดงานวันช้างไทยในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของช้าง ตลอดจนทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้แก่หมอช้าง ควาญช้าง และช้างที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่ถือว่าเป็น คุณูปการของแผ่นดินไทย รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการโลก ของช้าง ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

นาย เสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวประกาศเกียรติคุณวันช้างไทย "ช้าง" เป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่คูกับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและอยู่เหนือสัตว์ทั้งมวล ช้างเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นมงคลและมีความหมายไปในทางที่ดี ช้างที่มีคชลักษณ์ที่ดีถูกต้องตามตำราคชศาสตร์คือ "ช้างเผือก" เป็นสิ่งเชิดชูเกียรติยศและพระบรมเดชานุภาพของ

พระมหากษัตริย์ และถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด มีช้างเผือกคู่พระบารมีหลายเชือก จะทรงได้รับการยกย่องในพระราชอำนาจและมีพระเกียรติยศปรากฎแผ่ไพศาลไปทั่วทุกสารทิศ

ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้จารึกไว้ว่า ช้างเป็นผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทยเมื่อแผ่นดินสยามเข้าสู่สงคราม ช้างจะเป็นพระราชพาหนะสำคัญของกษัตริย์ไทยและเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการทำยุทธหัตถี ในสมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีครั้งที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกระทำยุทธหัตถีจนมีชัยชนะต่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีการทำยุทธหัตถีครั้งสำคัญ ๒ ครั้งคือ สงครามช้างเผือก ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โดยพระเจ้าหงสาวดีได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงยกทัพเข้าชนช้างกับพระเจ้าหงสาวดี แต่ช้างพระที่นั่งของพระองค์เสียทีแก่ข้าศึกสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งแต่งพระองค์เป็นชายโดยเสด็จด้วยเกรงว่าพระสวามีจะได้รับอันตรายจึงทรงช้างเข้ามากันไว้ จนต้องคมอาวุธสวรรคตอยู่บนคอช้างยุทธหัตถีครั้งที่สองของกรุงศรีอยุธยา คือ ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี ในการศึกครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างพระที่นั่ง คือ เจ้าพระยาไชยานุภาพซึ่งกำลังตกมันเข้าทำยุทธหัตถีและมีชัยต่อพระมหาอุปราชา และในสมรภูมิเดียวกันนี้สมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชาเข้าชนช้างกับมังจาจะโร ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชาก็ทรงได้รับชัยชนะด้วยเช่นกันเมื่อล่วงมาถึงสมัยที่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ช้างยังคงเป็นกำลังสำคัญในการทำ

 

สงครามมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อพุทธศักราช2388 ครั้งที่ไทยรบกับญวนที่เมืองเขมร เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้นำช้างออกรบไล่แทงข้าศึกจนทัพญวนพ่ายแพ้แตกกระจายช้างจึงมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ซาติไทยมาโดยตลอด ทั้งในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการปกป้องและกอบกู้บ้านเมือง และในฐานะที่เป็นสัตว์มงคลคู่พระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์จากความสำคัญของช้างดังที่กล่าวมาในข้างต้น รัฐบาลไทย

จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและจังหวัดสุรินทร์มาตลอดกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "เมืองช้าง" จึงได้จัดงาน "วันข้างไทย"ขึ้นในวันนี้เพื่อยกย่องให้เกียรติช้าง รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญและการดำรงอยู่ของช้างไทยสืบไป







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.