เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2 พบในไทยแล้ว 14 ราย อัตราการเสียชีวิตต่ำ


26 ม.ค. 2565, 14:19



"โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2 พบในไทยแล้ว 14 ราย อัตราการเสียชีวิตต่ำ




วันนี้ (26 มกราคม 2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 แล้ว 14 ราย ทั้งนี้ไทยพบสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากว่า 2-3 สัปดาห์แล้ว โดยพบมาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 แต่ที่ยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบจนกว่าจะแน่ใจ

สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่พบในปัจจุบัน ยังเร็วไปที่จะสรุปว่า การแพร่ระบาดนั้นจะเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ ในขณะที่สายพันธุ์ BA.1 ยังพบมากกว่า แต่ถ้าสัดส่วนของ BA.2 เปลี่ยนจากตอนนี้ที่มีอยู่ร้อยละ 2 และเพิ่มมาเป็นร้อยละ 5 หรือ ร้อยละ 10 ก็อาจจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องอาการป่วยหนักนั้น จาก 14 รายที่พบขณะนี้ แบ่งออกเป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย และพบติดเชื้อในประเทศ 5 ราย มี 1 ราย ที่เสียชีวิต คือ ผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคประจำตัว

“แต่ในภาพรวม เราส่งข้อมูลของโอมิครอนทั้งหมดประมาณ 7,000 ราย ให้ทางกรมการแพทย์พิจารณา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ที่เกิดจากโอมิครอน คิดเป็นร้อยละ 0.1 เท่านั้น ซึ่งอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าสายพันธุ์เดลต้าจะถูกแทนด้วยสายพันธุ์โอมิครอน เดลต้าที่กลายพันธุ์ อาจจะไม่มีความหมายอะไร เพราะคนที่ติดเชื้อส่วนมากกลายเป็นโอมิครอนแล้ว ก็มาจับตาดูโอมิครอนแทน เราก็คงเหมือนหลายๆ ประเทศในโลกนี้ ที่คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ โดยจะมีการแพร่เชื้อได้มาก ได้เร็ว แต่อัตราการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตก็จะน้อย” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องบูสเตอร์ โดส ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีโรคเรื้อรัง สูงอายุ เพราะถ้าเรามาดูถึงข้อมูลยิ่งชัดเจนที่คนที่มีร่างกายแข็งแรง ได้รับวัคซีน มีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสที่จะเสียชีวิตมีน้อยมาก แต่ถ้ายิ่งอายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า



ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีสายพันธุ์ย่อย BA.2 ทั่วโลกพบเท่าไร มีโอกาสกลายพันธุ์อีกหรือไม่ และควรเฝ้าระวังอย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากถามว่ามีเท่าไร เราคงต้องใช้สัดส่วนจากรายงาน โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 พบ 11,000 ราย BA.1 พบ 420,000 ราย ก็ประมาณ 1 ใน 40 เศษๆ

“แต่เราจะใช้สัดส่วนนี้ทั้งหมด 100% เลยไม่ได้ แต่เราใช้สัดส่วนแบบคร่าวๆ ในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก ที่พบว่าสัดส่วน BA.2 มากขึ้น เราก็จะจับตาดูต่อไป ในขณะที่ประเทศไทยที่พบโอมิครอนแล้วกว่า 10,000 ราย แต่พบเป็น BA.2 อยู่ที่ 14 ราย เราก็จะดูในสัปดาห์ต่อๆ ไป ว่า จะมีโผล่เพิ่มอีกเยอะอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร เพราะเขาไม่ได้เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด ส่วนการกลายพันธุ์อื่น ทั่วโลกต้องช่วยกันเฝ้าระวัง” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ในการเฝ้าระวังสายพันธุ์จากชายแดน โดยเฉพาะเขตรอยต่อของประเทศเมียนมาอย่างไรบ้าง เนื่องจากอินเดียยังคงระบาดอยู่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ได้ใช้วิธีสุ่มตรวจจากการเดินทางเข้าประเทศอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเข้ามาทางเครื่องบิน หรือชายแดน แต่ขอให้ช่วยกัน เพราะส่วนมากจะเจอจากการลักลอบเข้าเมือง


“เราถึงบอกเสมอว่า เราไม่ค่อยห่วงพวกที่เข้าตามตรอก ออกตามประตู แต่พวกที่ลักลอบข้ามมาจะเป็นประเด็น เพราะจะเจอก็ต่อเมื่อเกิดการแพร่เชื้อไปแล้ว จึงขอความร่วมมืออยากให้ทุกคนเข้มงวด รวมถึงการนำเข้าแรงงานเถื่อนด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามอีกว่า ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ยังจะสามารถตรวจจับเชื้อ BA.2 ได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร ยังสามารถตรวจจับได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีตรวจ RT-PCR หรือตรวจด้วย ATK

ต่อข้อถามอีกว่า อีกกี่เดือนที่เชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประถิ่น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าวันเวลาไหน แต่ธรรมชาติจะบอกให้เราเห็นเอง เช่น ไม่มีคนเสียชีวิตแล้ว หรือต่อไปอาจจะไม่ต้องตรวจแล้ว หรือป่วยก็ไปรักษา เพราะอาการอาจจะไม่หนักแล้ว แต่ที่เรากลัวคือถ้ามีการกลายพันธุ์ เป็น Variant ตัวใหม่ที่ไม่ใช่โอมิครอน และพฤติกรรมของมันอาจจะไม่ใช่แค่แพร่เร็ว แต่อาจจะรุนแรงกว่า แต่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นคือเราสามารถอยู่ด้วยกันได้






Recommend News






MOST POPULAR
















©2018 ONBNEWS. All rights reserved.