เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครม.เคาะงบกลาง 574.11 ล้านบาท เยียวยาผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย 56 จังหวัด


11 ม.ค. 2565, 16:29



ครม.เคาะงบกลาง 574.11 ล้านบาท เยียวยาผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย 56 จังหวัด




วันนี้ ( 11 ม.ค.65 ) นาย ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ซึ่งเป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 64 – 15 ต.ค. 64 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 58 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ. 60 แล้ว



นาย ธนกร ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุมัติงบกลางฯ ในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 64 – 15 ต.ค. 64 ในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้ ภาคกลาง  10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และ สุพรรณบุรี /ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว /ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ /ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร /ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ /ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย คิดเป็นเงิน จำนวน 574.11 ล้านบาท จำแนกเป็น เกษตรกร 4,941 ราย สุกร 159,453 ตัว


นายธรกร กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินอย่างจริงจัง ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF)  โดย ครม. ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งปี 2562  รวมทั้งได้มีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมทั้งชดเชย เยียวยาเกษตรกรรายย่อย เจ้าของฟาร์ม ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ดำเนินระบบการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง กำกับดูแล ให้เกษตรกร ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรค อาทิ ให้มีรั้วรอบฟาร์ม ให้มีจุดพ่นน้ำนาฆ่าเชื้อ เป็นต้น
 
"นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบ สำรวจโรคตามหลักวิชาการ และมาตรฐานสากล พร้อมชี้แจงให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ที่สำคัญต้องลดความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะผู้บริโภค ในขณะนี้ให้มากที่สุด " นายธนกร กล่าว






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.