เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



พัฒนาฝีมือพะเยาประชุมปรับแผนรองรับ "พะเยาเมืองสุขภาพ สมาร์ทซิตี้ เมืองสีเขียว"


2 ก.ย. 2562, 15:55



พัฒนาฝีมือพะเยาประชุมปรับแผนรองรับ "พะเยาเมืองสุขภาพ สมาร์ทซิตี้ เมืองสีเขียว"




วันที่ 2 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัดพะเยา (กพร.ปจ.) ครั้งที่ 2/2562 ณ ห้องประชุมจอมทอง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยา ปี พ.ศ.2560-2564 ให้ทันสมัย เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) โดยใช้การประชุม กพร.ปจ. เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปรับปรุงและยกระดับรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประสานความร่วมมือ และบูรณาการแผนการดำเนินการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนในจังหวัดพะเยา ให้มีเอกภาพและตอบสนองกับความต้องการกำลังแรงงานของทุกภาคส่วน สำหรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยาปี พ.ศ.2560-2564 ได้กำหนดอุตสาหกรรมนำร่องที่จำเป็นเร่งด่วน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่พักและบริการด้านอาหาร 2. กลุ่มอุตสาหกรรมด้านธุรกิจท่องเที่ยว 3. กลุ่มสัมมาชีพชุมชน โอท็อป และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และ 4. กลุ่มเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมอาหาร

 

 

นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ ได้พิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยาฯ ให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ ทิศทางการพัฒนาจังหวัดพะเยาและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งมีมิติการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและชัดเจน ใน 5 ประเด็นสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งปรับแผนพัฒนากำลังคนฯ รองรับ ดังนี้ ประเด็นแรก เน้นการพัฒนากำลังคนรองรับ พะเยาเมืองสุขภาพ (Phayao wellness)  โครงการจัดตั้งซีเนียร์คอมเพล็กซ์จังหวัดพะเยารองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ที่มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) เพื่อทดแทนแรงงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายได้ดีและท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุสมาชิกวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสัมมาชีพและโอทอปที่อยู่ในชุมชน ที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการยกระดับมาตรฐานฝีมือผู้ประกอบกิจการร้านอาหารกลุ่มสตรีทฟู๊ด หาบเร่ แผงลอย (Street food) รวมถึงธุรกิจรถโมบายขายอาหาร “ฟู๊ดทรัค (Food truck)” ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก มีหน่วยงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจและสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในขณะนี้ ประเด็นที่ 2 เน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลและทักษะสนับสนุนจำเป็น (Soft skill) อย่างเร่งด่วน รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Technology disruption) การนำดิจิทัลสู่ชุมชนเต็มรูปแบบ การพัฒนาแอพพลิเคชัน Beyond Phayao City สู่ “พะเยาเมืองอัจฉริยะ (Smart city)” ประเด็นที่ 3 เน้นการเป็น “เมืองสีเขียว (Green city)” รักษาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะ วัสดุเหลือใช้และมลพิษ มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เต็มรูปแบบ ประเด็นที่ 4 เน้นนำการวิจัยนวัตกรรมสู่ภูมิภาค ผลผลิตนวัตกรรมชุมชนสร้างสรรค์ และการพัฒนายกระดับ Startup และ SMEs เพิ่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ผู้ประกอบกิจการ และภาคีเครือข่ายประชารัฐในการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ และประเด็นที่ 5 เน้นการร่วมกันบูรณาการแบบ “ประชารัฐ” เพื่อสร้าง “แรงงานผู้ต้องขังคุณภาพ” ทั้งกลุ่มผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลนในทันทีที่พ้นโทษ และการจ้างงานกลุ่มผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างรับโทษในรูปแบบ “โรงงานในเรือนจำ” เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบกิจการ เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขัง ควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือให้ชำนาญ สามารถประกอบอาชีพได้ทันทีที่พ้นโทษ จึงเป็นการคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน ช่วยลดปัญหาสังคมพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด

 

 



 

 


 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.