เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



​นายกฯ ถกผู้นำแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT มุ่งพลิกโฉมท่องเที่ยว เกษตร ฮาลาล


28 ต.ค. 2564, 12:32



​นายกฯ ถกผู้นำแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT มุ่งพลิกโฉมท่องเที่ยว เกษตร ฮาลาล




วันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 10.15 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 13 (IMT-GT Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายอิซมาอิล ซับรี ยักกบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธาน ADB เข้าร่วม โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานการประชุมเชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกจะสามารถพัฒนาผ่านดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ IMT-GT ได้อย่างมีศักยภาพภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และเชื่อมั่นว่าจากความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนจะทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกันปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคนี้จะเป็นประโยชน์

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิดอาจทำให้กระทบต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ บ้าง อินโดนีเซียมีข้อเสนอว่าควร 1. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาถนนและท่าเรือ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับสูงและยั่งยืน เช่น ดิจิทัลทางการเกษตร และ 3. เร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 



นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนี้ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ในครั้งนี้ ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก รวมถึงอนุภูมิภาค IMT-GT เป็นอย่างมาก แต่การดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเชิงรุก ควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในทั้ง 3 ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายรูปแบบ ล้วนมีส่วนประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจของทุกประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตมาได้ ทั้งนี้ในส่วนของไทย ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และได้เตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผ่านโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” ซึ่งความสำเร็จของโครงการถือเป็นเครื่องยืนยันว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเปิดประเทศ 

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสามประเทศจะสามารถร่วมมือกันในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ให้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การร่วมกำหนดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างรัดกุม 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือของ IMT-GT เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เร่งพัฒนาและต่อยอดการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงแนวคิด รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณีโลก 3 ประเทศ เน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 2.อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด 3.อุตสาหกรรมฮาลาล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs 


นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของ IMT-GT ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. ความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมที่ไร้รอยต่อ สนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งรัดโครงการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งพิจารณาโครงการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เข้ามาบรรจุไว้ในโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs) 

2. ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เร่งรัดการลงนามกรอบความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันโรคพืชและสัตว์ (CIQ) ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีภายในต้นปีหน้า เพื่อให้การข้ามพรมแดนและการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่าง 3 ประเทศมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การขยายตัวด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาค

3. การเสริมสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินโครงการเมืองสีเขียว และโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ของไทย ผ่านการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อน IMT-GT ในระยะต่อไป ไม่เพียงแต่จะต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ปี 2036 และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่จะต้องสอดรับกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.