เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



จนท. บุกจับ "โรงงานผลิตปุ๋ยเถื่อน" ขายให้กับเกษตรกร สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก


11 ต.ค. 2564, 18:57



จนท. บุกจับ "โรงงานผลิตปุ๋ยเถื่อน" ขายให้กับเกษตรกร สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม 2564  พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ.พร้อมด้วย พ.ต.ต.พงษ์พนา กรีฑา สว.กก.2 บก.ปคบ, นางสาวอัจฉรา ทองสวัสดิ์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการศูนย์วิจัย และพัฒนาการเกษตรชุมพร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. และกำลังเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกันนำหมายค้น ศาลจังหวัดชุมพร ที่ ค.50/2564 ลง วันที่ 11 ตุลาคม 2564 เพื่อมาตรวจค้น โรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองชุมพร หลังจากได้รับจากสายข่าว ว่าโรงงานดังกล่าวลักลอบผลิตเคมีเถื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยเจ้าหน้าที่พบคนงาน จำนวน 3 คน ทราบชื่อนายเอ (นามสมมติ) ชาว จ.ขอนแก่น, นายโซ ตาน สัญชาติเมียนมา  และ นายเตน คาย อู ชาวเมียนมา กำลังช่วยกันผสมปุ๋ยบรรจุใส่กระสอบ ก่อนนำไปจัดเรียงเป็นกองสูงอยู่ตามจุดต่างๆ ภายในโรงงาน

ต่อมานายบี (นามสสมติ) อายุ 54 ปี ชาว จ.ชุมพร  เดินไปมาอยู่บริเวณหน้าเครื่องผสมปุ๋ย ซึ่งตั้งอยู่ติดด้านฝาผนังด้านใน  ได้แสดงตนเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน พร้อมแสดงบัตรประจำตัว และแสดงหมายค้นของศาลจังหวัดชุมพร ให้ นายบี ดูและได้อ่านข้อความในหมายค้นแจ้งความประสงค์เพื่อเข้าทำการตรวจค้น โดยมี นายบี  เป็นผู้นำตรวจค้น   

จากการตรวจค้นพบ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ไม่พบเลขทะเบียนตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ สารปรับปรุงดิน จุลินทรีย์ดิน ขนาด น้ำหนัก 50 กิโลกรัม จำนวน 70 กระสอบ ผลิตภัณฑ์ แคล-มิคพลัส 2020 วัสดุปรับปรุงดินบรรยายสรรพคุณ ฟื้นฟูระบบรากที่มีปัญหา กระตุ้นการเกิดรากใหม่ Organnic Ajust Soil-Plus บรรจุในกระสอบพลาสติกสาน สีขาว-ส้ม-เขียว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม จำนวน 70 กระสอบ  /ผลิตภัณฑ์ ไฮโกร 552 แอลเอฟ อาหารผสมสำเร็จ รูปชนิดเม็ด บรรจุในกระสอบพลาสติกสาน สีขาว-น้ำเงิน น้ำหนัก 30 กิโลกรัม จำนวน 60 กระสอบ /ผลิตภัณฑ์ พอร์ค ไฟเตอร์ 1301 อาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูป ลักษณะเม็ด บรรจุในกระสอบพลาสติกสาน สีขาว-แดง น้ำหนัก 30 กิโลกรัม จำนวน 70 กระสอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบ สารตั้งต้น ชนิดน้ำ และเครื่องมือ อุปกรณ์ ขวดพลาสติก ขนาด 1 ลิตร ฉลากผลิตภัณฑ์ ขนาด 1 ลิตร ฝาปิด 4 สี จำนวนมาก และที่ผลิตแล้วเสร็จบรรจุลงกล่องพร้อมจำหน่าย โดยระบุชื่อผลิตภัณฑ์ สารชีวภัณฑ์ organic acid บรรยายสรรพคุณ ดูดซึมไว พืชนำไปใช้ได้ทันที Silicate Carbon Compound ปริมาณสุทธิ 1,000 ซีซี บรรจุในขวดพลาสติกสีขาวขุ่น (ฝาสีเหลือง) ฉลากสีดำ เหลือง /ผลิตภัณฑ์ ฟายโต อะมิโน-โปร นวัตกรรมส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ช่วยทำให้เจริญเติบโตเร็ว ทั้งใบ ต้น ราก หรือหัว บรรจุในขวดพลาสติกสีขาวขุ่น (ฝาสีทอง) ฉลากสีเขียว ขนาดบรรจุ 1,000 ซีซี/ผลิตภัณฑ์ Enzume Stimulant ซุบเปอร์เอ็นไซม์ (สูตร 1) ขวดสีขาว (ฝาสีขาว) ฉลากสีดำฟ้า ปริมาณสุทธิ 1,000 ซีซี

เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดผลิตภัณฑ์ปุ๋ย และวัตถุอันตราย (ไตรโคเดอร์มา) พร้อมแจ้งข้อกล่าวหากับนายบี ฐานความผิด ผลิตปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรี ปุ๋ยชีวภาพ ที่ไม่ได้รับขึ้นทะเบียน ผลิตวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2 (เพื่อขาย) โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. กล่าวว่า การลงพื้นที่มาตรวจจับโรงงานผลิตปุ๋ยเถื่อนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก มีชาวสวน ได้รับความเสียหายจากการซื้อปุ๋ยของโรงงานเถื่อนแห่งนี้ ตนเองจึงได้ส่งสายเข้าทำการตรวจสอบโดยแฝงตัวเป็นชาวสวน เข้าทำการติดต่อขอซื้อปุ๋ยทั้งชนิดเม็ดบรรจุกระสอบ ชนิด 50 กก. และชนิดน้ำ บรรจุขวดพลาสติก ขนาด 1000 ซีซี ซึ่งระหว่างที่ได้ทำการติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์ ได้พบคนงานกำลังผสมปุ๋ยชนิดเม็ดและชนิดน้ำกันอยู่ จึงเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวนั้นผิดกฎหมาย จึงได้ประสานทางกรมวิชาการเกษตร จัดเจ้าหน้าที่ร่วมลงมาทำการตรวจสอบดังกล่าว

ด้านนางสาวอัจฉรา ทองสวัสดิ์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถึงแม้ทางผู้กระทำผิด จะอ้างอิงว่า ไม่ใช่การผลิตปุ๋ย แต่เลี่ยงบาลี ว่าเป็นสารปรับสภาพดินนั้น เป็นสิทธิที่จะอ้างได้ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ นำไปทำการตรวจหาส่วนผสมต่างๆในตัวผลิตภัณฑ์เพื่อจำแนกหาสารตั้งต้นว่ามีอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเบื้องต้นถือว่าผลิตโดยไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับการอนุญาต

ในขณะที่ทางนายบี กล่าวว่า ตนเองตั้งโรงงานและผลิตปุ๋ย จำหน่ายมานานแล้ว และได้ขอตั้งโรงงานอย่างถูกต้อง และวัตถุดิบที่นำมาผสมเพื่อบรรจุภัณฑ์จำหน่ายนั้นมีที่มาที่ไปอย่างถูกต้อง ตนเองเพียงนำมาผสมตามสูตรของตนเอง เพื่อให้เหมาะกับเกษตรกรที่ต้องการชนิดไหน แบบไหนเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเกษตรกรชาวสวนสั่งซื้อครั้งละหลายๆ ตัน และยังเคยส่งให้กับตามร้านจำหน่ายปุ๋ยในหลายๆ ร้านในจังหวัดชุมพรและต่างจังหวัดอีกด้วย 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.