เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รศ.ดร.เสรี" เตือนชุมชนริมน้ำในพื้นที่ 7 จังหวัด เตรียมรับมือผลกระทบจากพายุ 3 ลูก


11 ต.ค. 2564, 10:21



"รศ.ดร.เสรี" เตือนชุมชนริมน้ำในพื้นที่ 7 จังหวัด เตรียมรับมือผลกระทบจากพายุ 3 ลูก




รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ล่าสุด ได้ออกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เผยถึงสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 11-18 ตุลาคมนี้ พายุ 3 ลูกจะส่งผลกระทบให้เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ พร้อมเตือนให้เฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนสะสม ที่อาจก่อให้เกิดน้ำหลากซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในหลายจังหวัด โดยอาจารย์ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า สวัสดีครับ พายุ 3 ลูกกำลังมา อะไรจะเกิดขึ้น? ผมกับทีมงานลงพื้นที่น้ำท่วมภาคกลางมาตลอด  2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระยะนี้แนวโน้มปริมาณน้ำเหนืออาจจะจะลดลง ผมค้นพบพฤติกรรมน้ำหลากที่น่าสนใจ กล่าวคือ ปริมาณน้ำเหนือในปีนี้แม้ว่าจะน้อยกว่าปี 2554 (เนื่องจากปริมาณฝนสะสมในภาคเหนือน้อยกว่าประมาณ 20%) แต่ระดับน้ำในหลายพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นใกล้เคียงกัน หรือมากกว่า อยู่ในระดับอันตรายโดยดัชนีความเข้มน้ำท่วม  (Flood intensity) เป็นไปตาม “ทฤษฎีน้ำล้นแก้ว” ซึ่งเกิดจากการยกระดับถนน และมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำ การถมดินสิ่งก่อสร้างต่างๆ การบีบแม่น้ำ ลำคลองหลายสาย การแย่งที่น้ำอยู่ แต่ละเลยการประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงของพฤติกรรมน้ำหลากในลุ่มน้ำ เมื่อระดับน้ำถูกยกให้สูงขึ้น จึงมีแรงดันสูงขึ้น ส่งผลให้คันกั้นน้ำแตกเกิดปรากฏการณ์ “Domino effect” (อ.ไชโย อ.ปากโมก ต.โผงเผง จ.อ่างทอง อ.บางบาล ระดับน้ำสูงบริเวณเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น) เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐ กับชุมชน และระหว่างชุมชนด้วยกันเอง



แล้วจะเกิดอะไรขึ้นจากพายุ 3 ลูกนี้ (Lionrock, Kompasu, Low pressure/Depression)ผมได้ประเมินภาพรวมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าจะมีปริมาณฝนสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ150-200 มม. (ตั้งแต่วันที่ 11-18 ตุลาคม) ซึ่งจะส่งผลให้มีระดับน้ำสูงขึ้น < 0.50 m ความเสี่ยงจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ที่มีน้ำเต็มเขื่อน) อาจต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น ดังนั้นชุมชนที่อยู่ริมน้ำ หรือที่ท่วมอยู่แล้วจึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ใน จ.อ่างทอง, จ.ลพบุรี, จ.สระบุรี, จ.สุพรรณบุรี, จ.พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี และนนทบุรี (ดูเฉดสีส้ม)

แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อคันกั้นน้ำพื้นที่ กทม. (แต่ควรระวังน้ำท่วมรอการระบาย) พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด ที่ปริมาณฝนสะสมอาจจะเพิ่มมากกว่า 200 มม  เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างประมาณวันที่ 13-18 ตุลาคม) ภาคตะวันออก (ตลอดทั้งสัปดาห์ 10-18 ตุลาคม) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ตลอดทั้งสัปดาห์ 10-18 ตุลาคม) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และขนาดกลางหลายอ่างฯ ที่มีความจุใกล้เต็ม คันกั้นน้ำที่มีความเปราะบางหลายจุด จึงควรต้องเฝ้าระวัง สูงสุด สัปดาห์หน้าทั้งสัปดาห์มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ วางแผนการเดินทางด้วย ผมไม่มีเวลาประเมินรายพื้นที่ แต่ถ้าพื้นที่ใดซึ่งมีความเสี่ยงสูงจะพยายามเรียนให้ทราบทันที อนึ่งยังไม่หมดฤดูพายุ โปรดติดตามตอนต่อไป







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.