เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เช็คเลย! เปิดมาตรการเยียวยา ลูกจ้าง ม.33-นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม


6 ต.ค. 2564, 15:25



เช็คเลย! เปิดมาตรการเยียวยา ลูกจ้าง ม.33-นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม




วันนี้ ( 6 ต.ค.64 ) นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (น้ำท่วม) จนต้องหยุดงาน ไม่ได้รับค่าจ้าง ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย สามารถยื่นรับเงินทดแทนจากเงินกองทุนประกันสังคมได้ โดยจะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ไปทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย แต่ไม่เกิน 180 วัน 

โดยมีเงื่อนไขว่า สถานประกอบการต้องไม่สามารถประกอบกิจการได้ชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เช่น น้ำท่วม หรือบ้านลูกจ้างถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องยังไม่ถูกเลิกจ้าง และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือนใน 15 เดือน นับย้อนหลังตั้งแต่วันที่หยุดงานด้วยเหตุสุดวิสัย 

ส่วนการจ่ายเงินกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยเป็นการจ่ายเงินหลังจากวันที่ลูกจ้างมาทำงานได้แล้ว ดังนั้น เมื่อน้ำลดแล้วจึงค่อยยื่นเบิกกรณีว่างงานเหตุสุดวิสัย นอกจากนั้น ลูกจ้างไม่ต้องขึ้นทะเบียนคนว่างงานและรายงานตัวกับกรมการจัดหางาน เนื่องจากยังมีสถานะเป็นพนักงาน ไม่ได้ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง 



สำหรับขั้นตอนการยื่นขอเงินทดแทนการว่างงานจากสุดวิสัย (น้ำท่วม) ลูกจ้างสามารถโหลดแบบคำขอรับผลประโยชน์ ในกรณีว่างงาน หรือ สปส. 2-01/7 ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม จากนั้นกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม และลงรายมือชื่อ รวมทั้งแนบสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกจ้าง และหนังสือรับรองจากนายจ้างว่ามีเหตุน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ชั่วคราว หรือรับรองว่าบ้านลูกจ้างถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ จากวันที่เท่าไหร่ ถึงวันที่เท่าไหร่ โดยไม่จำเป็นต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน ส่งเอกสารดังกล่าวทางไปรษณีลงทะเบียน ไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่กรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก 

ส่วนการช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (น้ำท่วม) โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมลดอัตราส่งเงินสมทบจำนวน 3 เดือน นับตั้งแต่กันยายน-พฤศจิกายน 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบเหลืออัตราร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 5 ซึ่งในส่วนนี้ก็จะช่วยลดภาระของลูกจ้างและนายจ้างได้ส่วนหนึ่ง และกรณีนายจ้างที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้และไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ไม่ต้องส่งเงินสมทบดังกล่าว 


นอกจากนี้ยังมีโครงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยนายจ้างที่รักษาจำนวนลูกจ้างไว้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด สามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ,ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายจ้างที่มีจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ได้วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท และนายจ้างที่มีจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป ได้วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 2.75% ต่อปี และกรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 4.75% ต่อปี ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-service ของประกันสังคม (www.sso.go) โดยเลือกหัวข้อ ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารทั้ง 5 แห่งดังกล่าวข้างต้นได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.