เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ฉัตรชัย" ปลัดมท. แจงใช้งบ 1.58 หมื่นล้าน แก้ภัยแล้ง-อุทกภัย


29 ส.ค. 2562, 17:45



"ฉัตรชัย" ปลัดมท. แจงใช้งบ 1.58 หมื่นล้าน แก้ภัยแล้ง-อุทกภัย




วันที่ 29 ส.ค. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงในที่ประชุมการประชุมมอบนโยบายของกระทรวงมหาดไทยแก้ผู้บริหาร และผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุม นายนิพนธ์ บุญญามณี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย เข้าร่วมมอบนโยบาย พร้อมด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีทุกกรม และผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดเข้าร่วมในการประชุม ต่อกรณีการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย ใช้จ่ายงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงิน 15,800 ล้านบาท แยกเป็น จังหวัดละ 200 ล้านบาท สำหรับ 74 จังหวัด กับจังหวัดละ 500 ล้านบาท สำหรับ จ.สุรินทร์และจ.บุรีรัมย์ โดยเว้นกรุงเทพมหานคร

 

นายฉัตรชัย กล่าวว่า หลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติภายหลังการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ ในเชิงรูปแบบ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะกรอบวงเงินทั้งหมดนั้นไม่ใช่การนำเสนอของหน่วยงานใน มท. แต่เป็นโครงการภาพรวมของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมของทั้งประเทศ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และงบประมาณที่จะดำเนินการจัดสรรไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดละ 200 ล้านบาท หรือ 500 ล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่าเป็นงบประมาณเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับปัญหาภัยพิบัติ และมีความจำเป็นเร่งด่วน

 

 

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ตามมติครม. ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นผวจ. จำเป็นต้องมีหนังสือแจ้งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยการที่ มท.จะต้องเป็นเจ้าภาพนั้นเพราะเหตุว่ามีความยึดโยงเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหา ประการต่อมาคือการใช้งบประมาณจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและต้องมีแผนงาน ดังนั้นการใช้งบประมาณที่เกิดขึ้นจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาชน

 

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ในวันนี้ทราบว่าหลายจังหวัดจะมีการประชุมกรมการจังหวัดที่มีหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วม ขอเน้นย้ำให้ผู้ว่าฯ ไปชี้แจงให้ที่ประชุมทราบถึงความสำคัญ และให้ไปกำชับนายอำเภอให้ดำเนินการชี้แจงกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ทราบถึงเจตนารมณ์ที่รัฐบาลมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาของชาวบ้านและโครงการที่เสนอนั้นต้องมีความจำเป็นและเร่งด่วน โดยการดำเนินงานของผวจ.หลังจากนี้ กำหนดให้วันที่ 2-3 กันยายน ต้องมีการประชุมกบจ. เพื่อพิจารณาคำขอโครงการ โดยตนได้ประสานกับสงป. ให้จังหวัดเป็นหน่วยรับงบประมาณเท่านั้น ซึ่งจะไม่โอนงบประมาณไปยังหน่วยดำเนินงาน

 

นายฉัตรชัย กล่าวว่า หลังจากนั้นในห้วงวันที่ 3-5 ให้ส่งคำขอโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากกบจ. ไปยังสำนักงบประมาณเขตพื้นที่ หรือ CBO โดยสามารถทยอยส่งเข้าไปได้ในห้วงเวลาดังกล่าว แต่โครงการที่ส่งเรื่องเข้าไปจะต้องไม่มีปัญหามวลชน เป็น พื้นที่ที่ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย และต่อไปในวันที่ 6-11 ทาง CBO จะพิจารณาอนุมัติงบประมาณในพื้นที่นั้นๆ โดยโครงการใดที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรองวดงบประมาณ ซึ่งผวจ. หรือส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้เลย แต่จะไม่ลงนามในสัญญาจนกว่าจะได้รับงบประมาณ

 

"ท่านอย่าเอาจำนวนโครงการมาหารให้เหลือโครงการละ 5 แสน เพื่อใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เว้นแต่เป็นเรื่องจริงตามสภาพธรรมชาติ จังหวัดที่เอาไป 200 ล้านบาท อย่าเอาไปหารเท่า มันจะกลายเป็นโลกวัชชะ แล้วส่อเจตนาว่าหลีกเลี่ยงวิธีการ เราจะดำเนินการอย่างถูกต้อง และที่สำคัญจะไม่นำวิธีการจัดซื้อจัดจ้างมาเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาของประชาชน" ปลัดมท. ระบุ   









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.