เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



28 กันยายน ครบรอบ 104 ปี ของการพระราชทานธงชาติไทย !


28 ก.ย. 2564, 09:51



28 กันยายน ครบรอบ 104 ปี ของการพระราชทานธงชาติไทย !




ธงชาติไทยมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยได้กล่าวไว้ว่าเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๓ เรือรบของฝรั่งเศส ได้นำเรือเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญพระราชไมตรีและการค้า ได้ยิงสลุต
(ยิงปืนให้ความเคารพ) ให้แก่สยาม ในการที่เรือรบฝรั่งเศสได้ยิงสลุตให้นั้น ทางป้อมก็ชักธงชาติขึ้น แต่ในห้วงเวลานั้น ธงชาติสยามยังไม่มี จึงได้ชักธงชาติฮอลันดาขึ้นแทน แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมยิงสลุต เพราะเห็นว่าไม่ใช่ธงของ ชาติสยาม จึงแจ้งให้ทราบว่า ให้เอาธงฮอลันดาลงเสีย แล้วชักธงอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นแทน เผอิญในสมัยนั้นธงสีแดง ถือเป็นธงที่สยามใช้สำหรับเป็นธงนำทัพอยู่แล้ว สยามจึงนำธงแดงชักขึ้น จากนั้นฝรั่งเศสจึงยิงสลุตให้ ด้วยเหตุนี้
สยามจึงถือเอาธงสีแดงเป็นธงชาติสยาม



ย้อนไปในสมัยอยุธยา ได้มีการใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรใช้ธงสีแดงเหมือนกัน ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน ทรงให้เพิ่มรูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งราชวงศ์จักรีลงบนธงสีแดง เพื่อใช้สำหรับเรือหลวง นับเป็นครั้งแรกที่แยกธง สำหรับเรือหลวงและเรือราษฎร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเพิ่มรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาวเพื่อใช้สำหรับ เรือหลวง เนื่องจากประเทศไทยได้ช้างเผือก 3 เชือก ส่วนเรือราษฎรใช้ธงสีแดงอย่างเดิม


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้น ซ้ำกับประเทศอื่น ทำให้สังเกตได้ยาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือราษฎรใช้ธงสีแดงมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือหลวงใช้ธงสีขาบมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับธง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 118 และใน พ.ศ. 2453 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ซึ่งกำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง

พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นจากระยะไกล มีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการ และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่สง่างามเพียงพอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ให้ธงชาติเป็นพื้นสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสาธง ใช้เป็นธงราชการ ต่อมาได้ยกเลิกใช้ ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้ใช้ธงชาติแบบสีแดงสลับสีขาวห้าริ้ว และในพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งธงชาติส่วนใหญ่จะมี 3 สี จึงให้มีแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินแก่ เรียกว่า ธงไตรรงค์ การเปลี่ยนแปลงมาเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบธงไตรรงค์ และได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติ ดังนี้


              - สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธํารงรักษาชาติและศาสนา
              -  สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
              - สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 อธิบายลักษณะธงชาติว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลาง เป็นสีขาบ ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ๆ ละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์


จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับธงชาติ คือ ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์จนปัจจุบัน






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.