เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สาวร้องทุกข์เพจกม.ดัง พ่อถูกเลิกจ้างเพราะติดโควิด


7 ก.ย. 2564, 11:38



สาวร้องทุกข์เพจกม.ดัง พ่อถูกเลิกจ้างเพราะติดโควิด




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน เปิดเผยถึงเคสของลูกเพจรายหนึ่ง ได้ส่งข้อความเข้ามาปรึกษา ร้องทุกข์ พ่อถูกเลิกจ้างเพราะติดโควิด-19 โดยเล่าว่า พ่อตนติดโควิดต้องไปรักษาตัวที่ต่างจังหวัด พอกลับมาจากต่างจากจังหวัดโดนนายจ้างไล่ออกโดยที่ไม่บอก และไม่แจ้งล่วงหน้า ทั้งๆที่พ่อตนก็ยังติดต่อกับฝ่ายบุคคลตลอด โดยล่าสุดหมอนัดวันที่ 13 พ่อได้แจ้งมีใบรับรองแพทย์ให้ฝ่ายบุคคลรับรู้ แต่พอเดินทางกลับมาเข้าไปโรงงานวันที่ 17 โดยไปบอกฝ่ายบุคคลว่าขอลาออกแบบเกษียณอายุตัวเอง ฝ่ายบุคคลบอกจะลองคุยกับเจ้านายให้ แต่พอมาอีกวันคนในโรงงานถ่ายรูปใบปลดพ่อตนออก เพราะขาดการติดต่อตั้งแต่วันที่ 13-16 ทั้งๆที่พ่อตนมีใบรับรองแพทย์ และมีหลักฐานการคุยในไลน์กับฝ่ายบุคคลในช่วงเวลานั้น ไม่ได้ขาดการติดต่อจริง และฝ่ายบุคคล ก็ไม่แจ้งพ่อตนล่วงหน้าด้วยว่าปลดพ่อออก


จึงกราบขอร้อง ช่วยให้คำปรึกษา และช่วยเหลือพ่อตนด้วย แค่ติดโควิดกันหมดบ้านก็ทุกข์ระทมใจแสนสาหัสแล้ว พ่อมาโดนปลดออกอีก ฝ่ายบุคคลก็บอกให้ไปฟ้องเอา ได้โปรดช่วยครอบครัวหนูด้วยเถิด 



ซึ่งจากเรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าว ทางเพจกฎหมายแรงงาน ระบุว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แนะนำให้ไปฟ้องที่ศาลแรงงานกลางแล้ว ถ้าข้อเท็จจริงมีแค่นี้ และมีหลักฐานเพียงพอ คำตอบของเรื่องนี้จะเป็นดังนี้
- ติดโควิด ถือว่าป่วย เมื่อป่วยก็มีสิทธิลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง แต่ค่าจ้างจะได้ไม่เกิน 30 วัน
- การลาป่วยต้องดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับ มิฉะนั้น อาจถือว่าเป็นการทำผิดวินัยเรื่องการลาได้  อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์โควิดระบาดการที่ลูกจ้างใช้การแจ้งให้ฝ่ายบุคคลได้ทราบก็ถือว่าเป็นการลาได้แล้ว เหมาะสมกับสถานการณ์
- การเลิกจ้างหลังจากลูกจ้างหายป่วยแล้ว เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ (ศาลแรงงานไม่มีค่าธรรมเนียม เดินไปเล่าเรื่องให้เจ้าหน้าที่ฟังเขาจะพิมพ์ฟ้องให้ ไม่ต้องมีทนายก็ได้)  ศาลอาจพิพากษาให้รับกลับเข้าทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหาย
- เรื่องนี้อาจต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนสะสม(ถ้ามี) หรือค่าทำงานในวันหยุดตามสัดส่วนที่ทำงานมา

ระวังเรื่องเดียว อย่าไปเขียนใบลาออกซะก่อน ถ้าลาออก ก็ย่อมไม่ใช่เลิกจ้าง เมื่อไม่ใช่เลิกจ้างก็ต้องต่อสู้ว่าถูกหลอกลวง ข่มขู่ให้เขียนใบลาออก ซึ่งหนทางชนะคดีก็จะยากขึ้น

เป็นกำลังใจให้ครับ ขอให้ทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ส่วนนายจ้างหากไม่สบายใจก็อาจให้กักตัวต่ออีก 14 วัน แล้วทำข้อตกลงลาโดยไม่รับค่าจ้าง หรือวิธีให้ลาพักร้อน(หยุดพักผ่อนประจำปี) ซึ่งมันทำได้หลายวิธี เผลอๆ เรื่องนี้เมื่อเป็นข่าวใหญ่ ความเสียหายจะตามมามาก ได้ไม่คุ้มเสีย!!


 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.