เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"อธิบดีกรมควบคุมโรค" ยัน! วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ อย่าด้อยค่า - กล่าวอ้างข้อมูลเท็จ


31 ส.ค. 2564, 14:49



"อธิบดีกรมควบคุมโรค" ยัน! วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ อย่าด้อยค่า - กล่าวอ้างข้อมูลเท็จ




วันที่ 31 ส.ค.  64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่ภายในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมี 6 รัฐมนตรีถูกอภิปราย ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในขณะเดียวกัน  นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย นำนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มาแถลงชี้แจงเรื่องวัคซีนโควิด-19 หลังมีการอภิปรายในสภาฯ เพื่อให้ทราบโดยทันที เพราะหากรอให้รัฐมนตรีชี้แจงอาจจะช้าไป
 



โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากอาจจะมีการทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จนกังวลและไม่กล้าไปฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเสียหายและการควบคุมโรคของประเทศไทยรวมถึงเราทุกคน ขอชี้แจงว่า ไทยนำวัคซีนซิโนแวคมาใช้ตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 ขณะนั้นวัคซีนได้รับการรับรองให้ใช้ได้จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อย การนำวัคซีนใดๆ มาใช้คำนึงถึง 2 อย่าง คือ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย การวัดประสิทธิภาพนั้นสามารถทำได้ทั้งในห้องปฏิบัติการ และหลังจากฉีดไปแล้วจะมีการวัดประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

ทั้งนี้ มีการศึกษาจริงในการฉีดวัคซีนที่ภูเก็ตอย่างกว้างขวาง พบว่าสามารถทำให้ลดการระบาดของโรคได้ รวมทั้งเมื่อมีการระบาดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ จ.เชียงราย ก็มีการศึกษาและพบว่าวัคซีนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคอย่างมีนัยสำคัญ 70-80% ขึ้นไป และในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีวัคซีนตัวไหนที่สามารถป้องกันโควิดหรือป้องกันการตายได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค ไฟเซอร์  หรือวัคซีนอื่นๆ แม้แต่บางประเทศที่ฉีดไฟเซอร์อย่างกว้างขวางก็ยังมีการระบาดใหม่ เนื่องจากเชื้อมีการกลายพันธุ์ ทางด้านประเทศไทยก็มีการพัฒนาโดยนักวิชาการต่างๆ รวมถึงพัฒนาการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ คือ ซิโนแวค เข็มที่ 1 แล้วตามด้วยแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 เป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่อพี่น้องประชาชน พบว่าทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงเทียบเท่ากับการฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม และมีข้อดีที่ฉีดได้เร็วขึ้น


เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง ไม่มีหลักวิชาการ ที่บอกว่าการฉีดวัคซีนแบบไขว้มีอันตราย ไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ คณะวิชาการที่เป็นอาจารย์ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น ศิริราช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีข้อมูลหลักฐานวิชาการยืนยันตรงกันว่า วัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา มีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้พยายามจัดหาวัคซีนที่ค้นหาได้มาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันเวลา รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) เอง ขณะนี้ได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนหลายร้อยล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนทั่วโลก เป็นตัวยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงต้นของการระบาดที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีการระบาดโดยสายพันธุ์เดลตา (Delta) ซึ่งทำให้วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพลดน้อยลง แต่เราก็ยังหาวิธีการฉีดวัคซีนแบบไขว้ที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับภูมิค้มกันที่รวดเร็วขึ้น

ขอความกรุณาอย่าด้อยค่าวัคซีนซีโนแวค เพราะวัคซีนตัวนี้เป็นตัวช่วยเราตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราดูแลการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในระยะต่อไปที่เราจะพยายามเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในกับพี่น้องประชาชน นี่เป็นประการแรก ประการที่ 2 ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ขอนำเรียนว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เพราะฉะนั้นข้อกล่าวอ้างว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายจึงไม่เป็นความจริง






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.