เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"จนท.กรมประมง" ยึดอุปกรณ์ - ห้ามจับปลา ในช่วงฤดูกาลวางไข่ขยายพันธุ์ในแม่น้ำมูล


27 ส.ค. 2564, 06:35



"จนท.กรมประมง" ยึดอุปกรณ์ - ห้ามจับปลา ในช่วงฤดูกาลวางไข่ขยายพันธุ์ในแม่น้ำมูล




วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 16.30 น. นายวีระศักดิ์ สุวรรณพันธ์ เจ้าหน้าที่ งานประมงปฏิบัติงานสังกัดหน่วยป้องกันปราบปรามประมงน้ำจืดนางรอง(บุรีรัมย์) สังกัดหน่วยป้องกันปราบปรามประมงน้ำจืดนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ประมงจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ. มานพ สุนทรารักษ์ พนักงานสอบสวน สภ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เพื่อ ลงบันทึกประจำวัน ในกรณีที่ จนท.ประมง จำนวนหนึ่งได้เข้าตรวจยึดอุปกรณ์การทำประมงที่ทำผิดกฎหมายในแม่น้ำมูล บ้านทับใหญ่ บ้านโนนแคน และบ้านโพธิ์ ต.ทับใหญ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ โดยยึดของกลางเป็นเครื่องมือทำการประมงน้ำจืด ประกอบด้วย ถุงบาม ที่มีใช้สำหรับการยกยอ ขนาดกว้าง 20 X20 เมตร มีความลึกประมาณ 6 เมตร ขนาดช่องตาข่าย กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร จำนวน 4 ปาก และยังมีอวนลากทับตลิ่งขนาดความยาว 100 เมตร ช่องตาข่าย 2.5 เซนติเมตร ลึก 3 เมตร จำนวน 4 ผืน ซึ่ง คณะ จนท.ประมงสามารถยึดของกลางทั้งหมดได้กลางลำน้ำมูล บริเวณพื้นที่ บ้านทับใหญ่ บ้านโนนแคน และบ้านโพธิ์ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบ ของ ม.1- ม.3 ต.ทับใหญ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์




นายวีระศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้รับการแจ้งจากเครือข่ายนักอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ว่าในพื้นที่ ต.ทับใหญ่ ได้มีกลุ่มคนแปลกหน้า ใช้เรือขนาดใหญ่และอุปกรณ์ประมงขนาดใหญ่ เข้ามาทำการจับปลาในพื้นที่ดังกล่าวบ่อยครั้ง หลังรับแจ้งจึงได้นำกำลัง จนท.ประมงจำนวนหนึ่ง พร้อมเรือท้องแบนจำนวน 2 ลำ เข้าพื้นที่เพื่อวางแผนและตรวจการตามลำน้ำมูลดังกล่าว กระทั้งมาถึงพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่ ต.ทับใหญ่ต้องตะลึงเมื่อพบกับถุงบามขนาดใหญ่ ซึ่งใช้ในการลากยอ จำนวน 4 ปาก และพบกับอวนลากทับตลิ่งอีกจำนวน 4 ผืน ขณะที่ริมฝั่งมูลพบเห็นผู้คนจำนวนหนึ่งได้วิ่งหลบหนีไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มคนผู้ร่วมกระทำความผิด

สำหรับผู้คนจะใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่เท่านี้ได้ ต้องเป็นผู้มีทุนมากพอ และต้องใช้เรือขนาดใหญ่ในการลากจึงสามารถทำได้ ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มผู้ทำผิดกฎหมายอาจเห็น จนท.ก่อนที่จะใช้เรือหลบหนีไป และให้อีกลุ่มรอสังเกตการณ์บนฝั่งก่อนที่จะหลบหนีไป ภายหลังทำการตรวจยึดอุปกรณ์จึงได้นำมาลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน และดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป

จะอย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการห้ามทำการประมงในฤดูปลาวางไข่นั้น กรมประมงยังคงประกาศใช้มาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทุกจังหวัด ให้เหมาะสมตามข้อมูลทางวิชาการและการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา ทำให้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยคาดว่าฤดูฝนปีนี้จะเริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเร็วกว่าปกติและไปสิ้นสุดลงประมาณกลางเดือนตุลาคม และปริมาณน้ำฝนรวมของทั้งประเทศจะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติและมากกว่าปีที่แล้ว

นั่นหมายความว่า ช่วงดังกล่าวนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง ตามประกาศการใช้มาตรการสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน “ฤดูน้ำแดง” มีกำหนดใช้ 2 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2565 ตามประกาศกรมประมง ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงทุกชนิดในช่วงฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ ยกเว้น เครื่องมือบางชนิด ตามระยะเวลาและพื้นที่ ดังนี้



วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 และ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคามกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ในส่วนของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้ 1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวง ที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใด ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน 2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมง ด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป 3. สุ่ม ฉมวก และส้อม 4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน 5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร) 6. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ที่ผ่านมา กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงในแหล่งน้ำจืดทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย จนทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำค่อยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.