เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



หมอทุ่มสุดกำลัง! ช่วยเคสชายป่วยโควิด เป็นโรคอ้วน ยังไม่ฉีดวัคซีน เกิดภาวะ happy hypoxemia


25 ส.ค. 2564, 11:36



หมอทุ่มสุดกำลัง! ช่วยเคสชายป่วยโควิด เป็นโรคอ้วน ยังไม่ฉีดวัคซีน เกิดภาวะ happy hypoxemia




ที่เพจเฟซบุ๊ก ที่นี่ชายแดนใต้ แชร์เรื่องราวจากคุณหมอโรงพยาบาลตากใบ เล่าเคสช่วยชีวิตผู้ป่วยชาย มีโรคอ้วน ยังไม่ฉีดวัคซีน และพบภาวะ happy hypoxemia โดยคุณหมอเผยว่า ในวันนั้นเหลือเวลาอีก 1 ชั่วโมงก่อนลงเวรดึก โทรศัพท์ดังขึ้นช่วง 07.35 น. พยาบาลโทรเข้ามารายงานเคสคนไข้โควิด ออกซิเจนปลายนิ้วผู้ป่วย 63% หายใจ 28-30 ครั้งต่อนาที 

ตนกำลังสะลึมสะลือ นอนอยู่ ตอบพยาบาลไปว่า "อ่อๆ เท่าไหร่นะ 93% หรอครับ หายใจ 28 พอไหวๆ ใส่ออกซิเจนหน่อยนะครับ ให้เกิน 95 พยาบาลบอก "ไม่ค่ะหมอ 63 ค่ะ" ผมนี่ตาสว่าง และสะดุ้งลุกขึ้นมาเหมือนได้ดริปกาแฟเข้าเส้นเลือด วางหูเสร็จจึงรีบวิ่งไปที่ตึก และประเมินอาการผู้ป่วยในเวลานั้นทันที ภาวะ happy hypoxemia ในผู้ป่วยโควิด เป็นภาวะที่จะว่าดีก็ดี จะว่าน่ากลัวก็น่ากลัว 



ที่ว่าดีคือ ผู้ป่วยอาการไม่ค่อยเหนื่อยมาก ทั้ง ๆ ที่ออกซิเจนกำลังดิ่งลงเหวเจาะบาดาลทะลุแกนโลกไปแล้ว ที่ว่าน่ากลัวก็คือทำให้การติดตามอาการอาจจะล่าช้า การวัดออกซิเจนที่ห่างกัน 4 ชั่วโมง มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะอาการแย่ลงโดยที่ไม่แสดงอาการอะไรออกมาอย่างเคสรายนี้ แน่นอนเคสนี้ต้องส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจังหวัดทันที 

ออกซิเจนที่ต่ำเพียงนี้ การเดินทางออกจากโรงพยาบาลเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงมาก มีโอกาสที่หัวใจอาจจะหยุดเต้นกลางทางขณะส่งผู้ป่วยได้ทุกเมื่อ การใส่ท่อช่วยหายใจจึงเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้คุยกับผู้ป่วย และญาติเสร็จเรียบร้อย  แต่ประเมินเคสนี้แต่แรกแล้วว่าไม่ง่ายแน่นอน ด้วยกับภาวะอ้วน คอสั้น คางสั้น แต่จำเป็นต้องใส่เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ หลังเตรียมอุปกรณ์สวมชุดเสร็จเรียบร้อย ฉีดยานอนหลับให้ผู้ป่วยหลับไปในโดสแรก จึงเริ่มลงมือใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ไม่ได้ผล!! 

หาเส้นเสียงเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจยากมาก งมหายังไงก็ไม่เจอ เจอลิ้นที่ปิดหลอดลมอย่างเดียว คิดในใจไม่หมูแล้ว คนไข้อาจจะดิ้นเยอะ อย่างนั้นขอยานอนหลับเพิ่มโดสที่สอง ลงมือใส่ใหม่ก็ไม่ได้ ฟันคนไข้กัดอุปกรณ์สำหรับใส่ท่อช่วยหายใจเต็มที่ ดิ้นเยอะเหมือนเดิม พยาบาล และญาติช่วยกันจับสามคนเอาไม่อยู่ ตอนนี้หมอเองเริ่มเฟลอีกรอบ ออกซิเจนคนไข้ก็เริ่มต่ำ ชีพจรก็เร็วมากขึ้น หลังพักยก และเติมออกซิเจนให้อยู่ในระดับที่พอรับได้ ชีพจรเริ่มดีขึ้นก็ลุยต่อ ฉีดยานอนหลับโดสที่สาม ผลออกมาเหมือนเดิม เฟล หาเส้นเสียงไม่เจอครับ ภายใต้แรงกดดันที่แข่งกับเวลา ภายใต้ชุด PPE ที่เต็มไปด้วยน้ำเหงือตัวเอง มือไม้ และขาเริ่มสั่นเพราะออกแรงแต่ละรอบไม่น้อยเลยทีเดียว เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าๆภายใต้ชุดPPE เริ่มได้ยินเสียงหัวใจตัวเองเต้นเร็วขึ้นอย่างรู้สึกได้ เริ่มรู้ตัวแล้วว่าฝืนไปไม่ดีแน่ เริ่มหาที่นั่ง พับขานั่งขัดสมาธิเพื่อไม่ให้เลือดลงไปที่ขาเยอะเกิน กลัวตัวเองจะเป็นลม สุดท้ายจึงตัดสินใจ call for help ได้พี่เบิร์ด สตาฟอีอาร์ที่โรงพยาบาลตากใบ มาช่วยอีกแรง ทุกอย่างเริ่มไปได้สวย ฉีดยานอนหลับเพิ่มเป็นโดสที่สี่(เปลี่ยนยาแรงขึ้น) ผมจึงสลับหน้าที่มาช่วยจับคนไข้แทน ส่วนหัว ใช่ ส่วนหัวนี้แหละเป็นปัญหาสุดเวลาใส่ท่อ ขยับไปมาตลอด เลยจัดการจับให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ แต่ไม่เป็นผลครับ 


รูปข้างล่างเป็น X-ray ปอดวันแรกที่แอดมิดเข้าโรงพยาบาล กับวันนี้ (admit day3)หลังส่งตัวไปโรงพยาบาลจังหวัด ปอดแย่ลงจากเดิมเยอะ มากๆๆ หมออย่างเราได้แต่เพียงหวังว่าทุกอย่างมันจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากนี้ 

ฉะนั้น ใครที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และคนท้องก็รีบฉีดเถอะครับ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะติดโควิดตอนไหน ไม่มีใครรู้ว่าเราจะรอดจากโรคกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ไหม วัคซีนช่วยได้นะครับ หลังถอดชุด เสื้อผ้าข้างในไม่มีจุดให้ที่แห้งเลย เหมือนคนตกน้ำ สรุปลงเวร 10 โมงเศษ กลับไปอาบน้ำไปตรวจคนไข้ที่ ARI ต่อถึงสี่โมงเย็น 

ปล. อยากชื่นชมญาติคนไข้ที่เฝ้ารายนี้มาก น่าจะเป็นลูกชายคนไข้ น้องอดทนมาก น้องให้ความเคารพ และความร่วมมือในการรักษาของทีมแพทย์เป็นอย่างดี ช่วยจับพ่อเพื่อไม่ให้พ่อดิ้น น้องอดทนมากแม้เห็นว่าพ่อเจ็บปวด น้องถามเวลาน้องไม่เข้าใจในการรักษาอย่างมีมารยาท และเคารพการตัดสินใจของแพทย์ หมอขอชื่นชมน้องจากใจจริงครับ






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.