เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"หมอสาธิต" ชื่นชม! ตลาดศาลเจ้าสุราษฎร์ปลอดโฟม - ลดขยะลงทะเล


24 ส.ค. 2562, 09:03



"หมอสาธิต" ชื่นชม! ตลาดศาลเจ้าสุราษฎร์ปลอดโฟม - ลดขยะลงทะเล




เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ไปตรวจติดตามการดำเนินงานและดูการพัฒนายกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ถนนตีเหล็ก (ตลาดศาลเจ้า) เขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนางแจ่มจิตร พูลสวัสดิ์ รองว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายธีระกิจ หวังมุทิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี นำตรวจเยี่ยม เพื่อเป็นการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย เน้นการพัฒนาระบบการดำเนินงานให้สามารถจัดการได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนในระดับพื้นที่ จะต้องได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากภาคีเครือข่าย รวมถึงส่งเสริมมาตรการทางสังคมและสร้างกระแสสังคมให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเอง

นายสาธิต กล่าวว่า สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 12 จังหวัดได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่พัฒนาต้นแบบการจัดบริการอาหารริมบาทวิถีที่ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร โดยเฉพาะที่ถนนตีเหล็ก (ตลาดศาลเจ้า) ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองสุราษฎร์ธานีและเป็นที่รู้จักแพร่หลายทางสื่อโซเชียล เกิดจากความร่วมมือของชมรมผู้ประกอบการตลาดศาลเจ้าที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดร่วมกับเทศบาลนครสุราษฏร์ธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฏร์ธานีและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการจำหน่ายอาหารหลากหลาย มาตรฐาน สด สะอาด อร่อย ถูกสุขลักษณะ ราคาเป็นธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจของคนในชุมชน มีการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี โดยแผงลอยจำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย Clean Food Good Taste”

“ ผู้ประกอบการอาหารผ่านการอบรมตามหลักสูตรผู้สัมผัสอาหารและติดบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร มีการปกปิดอาหาร ปลอดภาชนะโฟม ลดการใช้ถุงพลาสติก ผ่านกิจกรรม “ถือกุบ หิ้วชั้น” ผู้ประกอบการอาหาร มีจุดรับฝากขยะ 3 ภาษา

จุดเด่นสำคัญของตลาดมีความตั้งใจในการพัฒนาตลาดตั้งแต่การรณรงค์ปลอดโฟม ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือจนประสบความสำเร็จ หากสามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยประเภทถุงพลาสติกได้ จะลดปริมาณขยะได้ถึงวันละ 26 ตันต่อวัน เนื่องจากขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเป็นประเภทถุงพลาสติกมากกว่า 20% ของปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ระบบเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยเป็นอย่างมาก ” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวอีกว่า มีความห่วงใยปัญหาขยะล้นเมืองก่อให้เกิดวิกฤตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล โดยในปี 2561 มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น จำนวน 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณร้อยละ 1.64 ซึ่งถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 34 กำจัดอย่างถูกต้อง ร้อยละ 39 และกำจัดไม่ถูกต้องร้อยละ 27 รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลโดยตรง จึงส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ในปี 2561 ข้อมูลกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พบมีการปล่อยขยะลงสู่ทะเล มากถึง 1 ล้านตันต่อปี จากการสำรวจพบขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) ขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) ถุงก๊อปแก๊ป กล่องอาหาร (โฟม) ห่อ/ถุงอาหาร ฝาจุกขวดพลาสติก บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ หลอดดูดน้ำพลาสติก พบปริมาณขยะใน 10 อันดับแรก มากถึง 45,931 ชิ้น









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.