เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ.แจงผลตรวจ ATK เป็นบวกแยกกักตัวที่บ้าน ไม่ต้อง RT-PCR เว้นเข้ารักษารวม


6 ส.ค. 2564, 15:31



สธ.แจงผลตรวจ ATK เป็นบวกแยกกักตัวที่บ้าน ไม่ต้อง RT-PCR เว้นเข้ารักษารวม




วันที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 13.20 น. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีผลการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) เป็นบวก ด้วยระบบการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ในสัปดาห์นี้กลับมาเป็นประเด็นเพราะว่า มีการค้นหาเชิงรุกมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องขอบคุณทีมแพทย์ชนบทที่ส่งหน่วยตรวจเชิงรุกลงพื้นที่ กทม. ประมาณ 30 ทีมต่อวัน ร่วมกับทีม CCRT ของทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร พบปัญหาหน้างานหลายแห่ง เช่น ผู้ที่มีผล ATK เป็นบวกแต่ไม่สามารถแยกกักที่บ้านได้ ซึ่งการจะเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) จะต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR หรือไม่ ก็เป็นคำถามที่หน้างานพอสมควร ดังนั้นช่วงเช้าในที่ประชุม EOC ของกระทรวงฯ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. จึงมอบหมายให้มีการชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้ง



นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการหากผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นผลบวก โดยความจำเพาะของการตรวจจะให้ผลบวกลวงประมาณ 3-5% ทางระบาดวิทยาตกลงกันว่าเป็น ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือ Probable case โดยจะเข้าได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เมื่อผล ATK เป็นบวกก็สามารถแยกกักที่บ้านได้ทันที ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งแยกเป็นรายบุคคล ไม่มีการปนเปื้อนเชื้อกับรายอื่น หลังจากนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงบประมาณให้โรงพยาบาล (รพ.) ทำการส่งอาหาร 3 มื้อให้ผู้ป่วยที่บ้าน 14 วัน พร้อมส่งอุปกรณ์ ได้แก่ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวันออกซิเจนในกระแสเลือด ยาที่จำเป็น และอื่น ๆ แต่กรณีที่ 2 ผลตรวจ ATK เป็นบวกแล้วต้องเข้า รพ./ฮอทพิเทล (Hospitel) หรือศูนย์พักคอยในชุมชน ที่ทาง กทม. และเอกชนร่วมกันทำโดยมีมากกว่า 100 แห่งใน 50 เขตใน กทม. ที่มีประมาณ 5-6 พันเตียง ซึ่งเป็นการเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ดังนั้นกรณีที่ผู้ตรวจด้วย ATK อาจให้ผลบวกลวง เราก็ไม่อยากให้คนที่ไม่ติดเชื้อ เข้าไปปนกับคนติดเชื้อ เราจึงต้องตรวจ RT-PCR คู่ขนานกัน

"ย้ำว่า ต้องไม่ให้การตรวจ RT-PCR เป็นตัวหน่วงรั้งการรับการรักษา ให้รับเข้าไปที่ รพ./ฮอทพิเทล(Hospitel) หรือศูนย์พักคอยในชุมชน โดยให้ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือ Probable case เซ็นใบยินยอมการรักษาและทำ RT-PCR คู่ขนานกันไป ผมได้คุยกับผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพฯ ไปแล้วว่า ศูนย์พักคอยในชุมชนไม่มีปัญหารับเข้าไปได้เลย และทำ RT-PCR คู่ขนานกันไป โดยมีบางแห่งอยู่ระหว่างการจัดตั้ง คือ ให้รพ.เอกชน มารับตรวจหาเชื้อที่หน้างาน แต่ระหว่างนั้นก็จะให้ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย แยกการอยู่กับผู้ป่วยรายอื่นมากที่สุด เพื่อเป็นความปลอดภัยกับผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกลวงได้" นพ.สมศักดิ์ กล่าว


สำหรับผู้ป่วยเข้ารักษาในฮอสพิเทล เราให้นอนรวมกัน 2 ราย แต่กรณีที่เป็นการตรวจด้วย ATK และรอการยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR เราจะให้นอนแยกคนเดียวก่อน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.สถานพยาบาล ที่อาจตรวจด้วย ATK/RT-PCR โดยทางรพ.ที่ตรวจก็จะรับเคสผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเข้ารักษาเอง 2.การตรวจเชิงรุก เช่น ทีมแพทย์ชนบท ทีม CCRT ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยไว้เลย สปสช.ก็จะเก็บข้อมูลเพื่อจับคู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือ รพ. หรือศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพฯ เพื่อทำการแยกกักที่บ้านหรือเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน และ 3.ผู้ที่ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK ตอนนี้หากใช้ชุดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อเป็นผลบวกให้ถ่ายภาพผลตรวจ และโทรไปที่สายด่วน สปสช.1330 ที่ขยายเพิ่มถึง 3 พันคู่สายแล้ว หรือแอดไลน์บัญชีทางการผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อกรอกข้อมูลลงทะเบียน และรอการจับคู่สถานพยาบาล ซึ่งขณะนี้จะตอบรับภายใน 48 ชั่วโมง

 

ที่มา matichonกระทรวงสาธารณสุข






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.