เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ" ขอโทษปชช. จัดหาวัคซีนโควิดไม่ทันต่อสถานการณ์ การแพร่ระบาดในไทย


21 ก.ค. 2564, 15:42



"ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ" ขอโทษปชช. จัดหาวัคซีนโควิดไม่ทันต่อสถานการณ์ การแพร่ระบาดในไทย




วันที่ 21 ก.ค. 64 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมแถลงที่กระทรวงสาธารณสุข โดยชี้แจงว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติทำหน้าที่เจรจาจัดหาวัคซีนโควิด-19 พยายามติดต่อประสานงานกับผู้ผลิตวัคซีน ทั้งที่มีวัคซีนแล้วและที่อยู่ระหว่างการวิจัย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ส.ค. 2563 พยายามหาช่องทางจัดซื้อล่วงหน้าแม้จะอยู่ระหว่างการวิจัย จนจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกาได้ 61 ล้านโดส ซึ่งแต่ละครั้งการเสนอจัดหาวัคซีน ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานและคณะกรรมการจัดหาวัคซีนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ และก่อนการลงนามจะมีการส่งปรึกษาหารือหน่วยงานทางด้านกฎหมายของประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาดำเนินการ

เป็นที่มาที่เกิดความรับรู้ว่าการดำเนินการที่เราจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี แต่ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติแม้ว่าจะได้พยายามเต็มที่ ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด การระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน รวมถึงสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัส ก็ไม่ใช่เรื่องเราที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้า เกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดการระบาดของโรครวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ ก็ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง



สำหรับสิ่งที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะดำเนินการต่อไปมี 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่

1 การจัดหาวัคซีน
1.1 เร่งรัดเจรจาการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคชีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง (2nd Generation) ที่จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ (Variants of concern) โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565

2 การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต
2.1 เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วย Platform อื่นๆ นอกเหนือจาก Viral vector เช่น Inactivated Platform หรือ mRNA Platform หรือ Protein subunit เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญ

3 การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ
3.1 สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ ทั้ง mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม, วัคซีนของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และวัคซีนของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จํากัด โดยในส่วนของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและองค์การเภสัชกรรม เริ่มทำการทดสอบในคนแล้ว
3.2 แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคชีนในมนุษย์ระยะที่ 3 เช่น ประเทศอินเดีย


4 ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4.1 สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชากรไทย
4.2 ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ในปี 2565 อย่างใกล้ชิด
4.3 ติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมว่า เรายังอยู่ในการเข้าร่วมกับโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพียงแต่ยังไม่ได้ลงนามในการทำความร่วมมือการจัดหาวันซีนร่วมกันผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เตรียมการเริ่มเจรจาโดยประสานงานไปที่องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) ในการขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโคแวกซ์ โดยมีเป้าหมายของการได้รับวัคซีนในปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโดยลำพัง หากมีข้อสรุปชัดเจนขะเสนอผ่านคณะทำงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่อไป ยืนยันว่าสถาบันวัคซีนจะดำเนินการเต็มที่ต่อไป






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.