เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศบค. แนะ! ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้บุคลากรการแพทย์ 7 แสนคน เป็นกลุ่มแรก


6 ก.ค. 2564, 16:37



ศบค. แนะ! ฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้บุคลากรการแพทย์ 7 แสนคน เป็นกลุ่มแรก





วันที่ 6 ก.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. แถลงชี้แจงแนวทางฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หลังร่วมประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่คนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า ช่วง 2 เดือน มีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตาอย่างมาก ใน 96 ประเทศ ส่วนภาพรวมประเทศไทยระบาดแล้ว 30% เฉพาะใน กทม. พบ 50% เนื่องจากสายพันธุ์เดลตา มีการระบาดได้เร็ว ซึ่งคาดว่าในอีก 1-2 เดือนในประเทศไทย และทั้งโลกจะพบสายพันธุ์เดลตาเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมด แม้ในภาพรวมจะไม่มีความรุนแรง แต่จะทำให้ผู้ป่วยออกซิเจนในเลือดต่ำ ปอดอักเสบเร็วขึ้น เดิมสายพันธุ์อัลฟา ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ถึงจะกลายเป็นปอดอักเสบ แต่สายพันธุ์เดลตา ใช้เวลาเพียง 3-5 วัน เมื่อเปอร์เซนต์ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการเตียงเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงเตียง ICU หรือเตียงผู้ป่วยหนัก ซึ่งตอนนี้เตียงสีแดงของเราตึงมากจริงๆ ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้ และเมื่อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ก็จะทำให้ดื้อต่อวัคซีน ไม่ใช่วัคซีนไม่ดี

ดังนั้น จึงต้องหาวัคซีนเจเนอเรชันใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมการกลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีวัคซีนชนิดใด ทั้งไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา กำลังผลิตวัคซีนชนิดใหม่ คาดว่าเร็วที่สุดอาจจะปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงหากจะมีการจัดซื้อวัคซีนในวันข้างหน้า

เมื่อพิจารณาข้อมูลวัคซีนปัจจุบัน พอเจอสายพันธุ์เดลตา ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง อย่างข้อมูลที่ทำในอังกฤษ วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม เมื่อเจอสายพันธุ์เบตา ภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เมื่อพบเดลตาลดลง 2.5 เท่า ฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม เมื่อเจอสายพันธุ์เบตา ภูมิคุ้มกันลดลง 9 เท่า ในสายพันธุ์เดลตา การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า ส่วนซิโนแวค เมื่อฉีด 2 เข็ม งานวิจัยของ สวทช. ร่วมกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า ถ้าเจอสายพันธุ์เดลตา ภูมิลดลง 4.9 เท่า หากแปลงเป็นตัวเลขทางคลินิก จะพบว่า ความสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานดีที่สุด คือ mRNA หรือ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา รองมาเป็นแอสตราฯ และซิโนแวค



ในเรื่องของการป้องกันโรค ไฟเซอร์ จะป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ลดลง จาก 93% เหลือ 88% แอสตราเซเนกา จาก 66% เหลือ 60% แต่ที่สำคัญคือการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ไฟเซอร์ ได้ 96% และ แอสตราเซเนกา ได้ 92% ซึ่งตัวเลขนี้ ถือว่าเท่ากัน ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ซึ่งแม้การป้องกันเชื้อลดลง แต่การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงยังได้ผลสูง ส่วนซิโนแวค เรายังไม่มีข้อมูลว่าป้องกันได้เท่าไร แต่หากเทียบจากภูมิต้านทาน คงป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ไม่ดีแน่ ทั้งนี้มีข้อมูลจากหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวคว่า การฉีดครบ 2 เข็ม จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ได้มากกว่า 90% ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกัน 100% แต่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง จนต้องเข้านอนในโรงพยาบาล หรือเตียงสีเหลือง สีแดง ที่ค่อนข้างตึงมากในเวลานี้ บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอ ซึ่งมาตรการด้านสาธารณสุขก็ยังจำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นการใส่แมสก์ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เลี่ยงไปที่แออัด

ขณะที่เหตุผลที่เราต้องการบูสเตอร์โดสคือ มีงานวิจัย พบว่า ในระยะเวลา 3-4 เดือน ภูมิต้านทานจะลดระดับลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงไม่ได้ ซึ่งเราไม่อยากเรียกเข็มที่ 3 เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการจาก WHO ว่า ต้องฉีดเข็มที่ 3 ขณะที่มีเพียง ยูเออี กับ บาห์เรน เท่านั้น ที่มีการฉีดเข็มที่ 3 ซึ่ง 2 เข็มแรก เป็นการฉีดซิโนแวค ซึ่งเข็มที่ 3 ฉีดซิโนฟาร์ม เนื่องจากหาวัคซีนอื่นไม่ได้ แต่หากจะฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิให้มากขึ้น ต้องเป็นวัคซีนที่ต่างชนิดกัน หรือคนละแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นไวรัสเวคเตอร์ หรือ mRNA แต่ทั้งหมดก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดเข็มที่ 3 น้อยมาก ซึ่งเราต้องฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ให้ครบก่อน แต่ต้องยอมรับว่าการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายจะป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้น้อย แต่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ ซึ่งถือว่าคุ้ม

ขณะที่ในประเทศไทยมีแอสตราเซเนกา กับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นากำลังเข้ามา อยากให้ฉีดให้ครบ 2 เข็มให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งนึกถึงเข็มสาม ถ้าฉีดแอสตราฯ ห่างสามเดือน อย่าเพิ่งไปจอง พูดจากทางวิชาการ เพราะว่า จะได้ mRNA รุ่นเก่า เนื่องจากแอสตราฯ เว้นสามเดือน ฉีดเข็มสามเว้น 6 เดือน จะได้ mRNA เจเนอเรชันใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง และปลอดภัยมากกว่า

เมื่อภูมิต้านทานตกเร็ว ทางการแพทย์ ก็ต้องฉีดบูสเตอร์ ซึ่งซิโนแวค ต้องการบูสเตอร์แน่นอน แต่ควรฉีดให้ครบ 2 เข็มก่อน นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มที่ใช้ซิโนแวคมากที่สุดในบ้านเราคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตอนนี้ก็ห่างจากเข็ม 2 ได้ประมาณ 4 เดือน ดังนั้น จึงมีมติว่า กลุ่มนี้จะต้องได้บูสเตอร์ก่อนเป็นกลุ่มแรก โดยต้องเป็นแอสตราฯ หรือ mRNA ไฟเซอร์ ที่กำลังจะได้บริจาคมาจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส

ส่วนใครที่ฉีดแอสตราเซเนกา ให้ฉีดครบ 2 เข็ม จากนั้นเว้นไป 6 เดือน ค่อยฉีดบูสเตอร์โดส ซึ่งมีผลวิจัยจากออกซ์ฟอร์ดว่า ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากถึง 6 เท่า และไม่มีเอฟเฟกต์เท่าไรนัก แต่ถ้าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 3-4 เดือนควรได้บูสเตอร์โดส ที่เป็นแพลตฟอร์มอื่น ไม่ว่าจะเป็นแอสตราเซเนกา หรือ mRNA ถ้ามีเข้ามา


ฉะนั้นคำว่าบูสเตอร์โดส ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป ยังไม่มีประเทศไหน หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก กำหนดแนวทางไกด์ไลน์ออกมา ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราช และจุฬาฯ กำลังทำการศึกษาเข็มสามว่าตัวไหนจะเหมาะ ตัวไหนดีที่สุด อีก 1 เดือนจะรู้ผล และจะเป็นการศึกษาแรกๆ ในโลก และประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกกำหนดไกด์ไลน์ว่า การให้บูสเตอร์โดส จะใช้อะไรบ้าง อย่างไร และการใช้ไม่ได้ใช้สำหรับคนทั่วไป แต่ใช้สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือไปรับเชื้อ คือ บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีทั้งหมด 7 แสนกว่าคน ข้อกำหนดที่ 2 จะให้กับผู้มีความเสี่ยง กลุ่มโรคต่างๆ ความหวาน ความดัน คนที่รับยากดภูมิทั้งหลาย ฯลฯ

หากมีไฟเซอร์เข้ามา ทำไมถึงไม่ฉีดให้เด็กก่อน เนื่องจากเป็นตัวเดียว ที่ฉีดได้ ศ. เกียรติคุณ นพ.อุดม ระบุว่า ภาพรวมทั้งประเทศ สำหรับเด็กยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เพราะส่วนใหญ่เด็กติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่รุนแรง เด็กอยู่โรงพยาบาลน้อยมาก ทำให้ต้องฉีดให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้ใหญ่ก่อน เพราะตายวันละ 50-60 คน ไม่ไหว ส่วนไฟเซอร์ที่จะเข้ามา 20 ล้านโดส ในไตรมาส 4 ซึ่งเราเซ็นสัญญาจองไว้แล้ว รวมถึงจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่จะมาอีก 5 ล้านโดส และโมเดอร์ นาของเอกชน เราก็จะมีเวลาระดมฉีดให้เต็มที่ สรุปคือ บูสเตอร์โดสมีความสำคัญแน่นอน และอย่าไปดาวน์เกรดซิโนแวค เนื่องจากลดความเจ็บป่วยรุนแรงได้ไม่แพ้วัคซีนอื่น และควรฉีดให้ได้ 2 เข็มก่อน ขณะที่องค์การอนามัยโลก ไม่แนะนำให้เปลี่ยนแพลตฟอร์มของวัคซีนในเข็มที่ 2 โดยอยากให้มีข้อมูลมากกว่านี้ก่อน อย่างไรก็ตาม บูสเตอร์ที่จะฉีดให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้น หากไฟเซอร์ยังไม่มา จะฉีดแอสตราเซเนกาให้ก่อน

ในอนาคตจะมีการนำเข้า mRNA ของไฟเซอร์ เป็นวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชนฟรี แต่เมื่อสั่งไปแล้ว วัคซีนไม่ได้มาทันที และตอนนี้แย่งกันมาก อีกทั้งหลายประเทศก็ยังได้ไม่ครบ เพราะฉะนั้นไฟเซอร์จะเข้ามาเร็วสุดคือ ต.ค. แต่อาจจะมา ธ.ค. ก็ได้ ซึ่ง 20 ล้านโดสนี้ ให้ฟรีกับประชาชน






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.