เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชุมพร ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา "ทุเรียนอ่อน"


17 มิ.ย. 2564, 14:38



ชุมพร ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา "ทุเรียนอ่อน"




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร และหัวหน้าสวนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมมาตรการและการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการล้งทุเรียน กลุ่มเกษตรกร เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดย นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพร มีการเพาะปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองลงมาจากจังหวัดจันทบุรี โดยในปี 2564 จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 246,580 ไร่ คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 346,541 ตัน จากพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 207,376 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 9.8 และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน จากภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 พบว่า มีการขยายตัว ร้อยละ 1.4 โดยในสาขาพืช มีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 3.6

ซึ่งทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มมากถึงร้อยละ 20.17 เนื่องด้วยทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน และในอีก 5 ปี ข้างหน้า มีแนวโน้มที่ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวันจะเพิ่มการนำเข้ามากขึ้น จึงมีผลทำให้ทุเรียนมีราคาสูง ซึ่งเป็นการจูงใจให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ชุมพรประสบปัญหาเรื่องการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพในช่วงต้นฤดูกาล เนื่องจากทุเรียนในช่วงนี้มีราคาสูง เป็นแรงจูงใจให้เจ้าของสวนบางรายตัดผลผลิตก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค

 

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว จังหวัดชุมพร จึงได้แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพในจังหวัด โดยกำหนดแนวทางในการควบคุมป้องกันและแก้ไขทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด และสร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ดังนี้

 1) เก็บเกี่ยวผลผลิตตามมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ

 2) มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ

 3) การกำหนดวันเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนจังหวัดชุมพร

 4) จัดทำฐานข้อมูลจำหน่ายทุเรียนแผงริมทาง โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพรดำเนินการ

 5) จัดทำฐานข้อมูลโรงคัดแยกบรรจุได้รับมาตรฐาน GMP

 6) มาตรการลงโทษ (ล้ง) ที่รับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยการตักเตือน และยึดใบอนุญาต ซึ่งมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการ

 7) กำหนดมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ

 8) บทลงโทษผู้ซื้อขายทุเรียนอ่อน

 9) จัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ เรื่องการวิเคราะห์ทุเรียนคุณภาพและสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจสอบ และ

 10) เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลการผลิต และแจ้งวันทุเรียนดอกบานและคาดคะเนวันเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยให้แจ้งข้อมูลที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.)

 ทั้งนี้ หากผู้บริโภค ผู้ค้า หรือประชาชนรายใดได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง

 

 









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.