เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ประวัติความสำคัญ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม 2564 !


4 พ.ค. 2564, 08:21



ประวัติความสำคัญ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม 2564 !




"ฉัตรมงคล" ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย

ความสำคัญ

วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 หลังจากรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ทางรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันนี้ลง

เนื่องจากวันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในปีถัดไปถือว่าวันนี้เป็นวันฉัตรมงคล

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ กำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้



ความเป็นมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

สมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าวถึงการขึ้นเป็นผู้นำของพ่อขุนบางกลางหาว ไว้ว่า

“...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์...” ส่วนในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาไทย และภาษาเขมรกล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ว่ามี มกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร


สมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคำให้การของชาวกรุงเก่า ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงขั้นตอนของพระราชพิธีนี้ว่า

“...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้น มาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น พระองค์ย่อมประทับเหนือพระที่นั่งตั่งไม้มะเดื่อ สรงพระกระยาสนานก่อนแล้ว (จึงเด็จไปประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ) มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ มหามงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ ๑ พัดวาลวิชนี ๑ ธารพระกร ๑ ฉลองพระบาทคู่ ๑...”

ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สันนิฐานว่าทำตามแบบอย่างเมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยาแต่ทำอย่างสังเขป เพราะบ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ยังอยู่ในภาวะสงคราม

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูล เต็มตำรา

ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๖ โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า มีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่

แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราที่เกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย

เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่งและแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

ขอเชิญประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรออนไลน์ได้ทาง

กดตรงนี่ได้เลย

ที่มา m-culture.go.th






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.