เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.2 กำชับ อจน.เร่งจับมือท้องถิ่นแก้น้ำเสีย 7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รักษาสมดุลการอุปโภคบริโภค


25 มี.ค. 2564, 16:45



มท.2 กำชับ อจน.เร่งจับมือท้องถิ่นแก้น้ำเสีย 7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รักษาสมดุลการอุปโภคบริโภค




เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 มี.ค. 2564 ที่องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสีย โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน.พร้อมด้วยคณะกรรมการ นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน.ให้การต้อนรับ
    
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและต้องดำเนินการให้เป็นกิจจะลักษณะเป็นปัญหามลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียขององค์การจัดการน้ำเสียให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)



นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างความตระหนักในการช่วยกันลดความสกปรกของน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด การมีส่วนร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนว่าต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยกันถึงจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย พร้อมบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างๆ อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น องค์การจัดการน้ำเสีย ในฐานะหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำเสีย การประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง ในฐานะหน่วยงานที่ผลิตน้ำประปา บูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการคุณภาพน้ำอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพเน้นการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการกำกับกิจการที่ดีและตามมาตรฐานสากล ดำเนินงานอย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือต้องเข้าไปประสานงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีความพร้อมดำเนินการเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่มีมากถึง 7 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำมาเป็นนำกลับมาใช้ได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้น จึงถือว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดความคุ้มค่าสูงสุด


นอกจากนี้เรื่องบุคลากรถือเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนภารกิจขององค์กร ควรมีการเพิ่มศักยภาพความรู้ความสามารถของบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ประชาชนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต้องทำให้เห็นว่าน้ำเสียสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประยุกต์ใช้พื้นที่ของระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นสถานที่ที่ประชาชน โดยใช้โรงงานน้ำเสียที่บำบัดอยู่ใต้ดิน ส่วนข้างบนเป็นสวนสาธารณะ หรือสนามฟุตบอลตามที่ท้องถิ่นต้องการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมต่อไป






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.