เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



จ.เลย จัดประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหา "ช้างป่า" ออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และพื้นที่ใกล้เคียง


31 ก.ค. 2562, 14:32



จ.เลย จัดประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหา "ช้างป่า" ออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และพื้นที่ใกล้เคียง




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ ห้องประชุมแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมใบบุญเพลส จังหวัดเลย มีการประชุม เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ท้องที่จังหวัดเลย และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นางสาวกาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก           

นายจิรชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง เลขาการประชุม กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ท้องที่จังหวัดเลยและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเชิญตัวแทนหัวหน้าหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการจัดการร่วมแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อการดำเนินการที่เป็นไปในทางเดียวกัน

สถานะการณ์ช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ประชากร 186 ตัว (สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง, 2560) ข้อมูลช้างป่าออกนอกพื้นที่ (สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง, พ.ศ.2562) ช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 70 ตัว พื้นที่อำเภอภูเรือ - ด่านซ้าย 15 ตัว พื้นที่อำเภอวังสะพุง 8 ตัว พื้นที่อำเภอภูหลวง 35 ตัว พื้นที่อำเภอหล่มเก่า 14 ตัว

แผนปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าฯ ดังเอกสารแนบ 9 โครงการ 26 กิจกรรม โดยศึกษา ปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ลดปัจจัยคุกคามต่อช้างป่าภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ศึกษาการกระจายของช้างป่า และเส้นทางการเคลื่อนที่ของช้างป่าทั้งในและนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่และลดผลกระทบต่อประชาชน จัดทำแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแต และจัดทำแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง - อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วในการแก้ไขปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ สร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าแบบมีส่วนร่วม จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่า

นายจิรชัย กล่าวต่ออีกว่า จากนี้ไปจะมีแผนปฏิบัติงาน (Action Items) โดยเพิ่มชุดปฏิบัติการ ทสจ., ทสม., เกษตรจังหวัด ดำเนินการเรื่องการปลูกพืช ชนิดพืชที่ควรลดการส่งเสริมการปลูกพืชที่ดึงดูดช้างป่าออกมานอกพื้นที่ (อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง) ชนิดพืชที่ควรเร่งส่งเสริมให้ปลูกเป็นแนวกันชน (พิจารณาชนิดพืชร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อีกครั้ง) พื้นที่กันชนรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง (จัดโซนชนิดการปลูกพืชเกษตรรอบแนวกันชนป่าและชุมชน : Zoning) ให้หน่วยงานในจังหวัดเร่งให้ความร่วมมือการทำบ้านช้างป่าให้น่าอยู่ (อาหารดีน้ำเพียงพอ) โดยให้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปลูกพืชอาหารช้างป่าและขอความร่วมมือชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำเพื่อการวางแผนการจัดการน้ำในพื้นที่ให้ช้างป่า เร่งการช่วยเหลือและเยียวยา โดยให้ประชุมเพื่อหาข้อตกลงแนวทางและขั้นตอนการรับเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัยจากช้างป่าโดยด่วน กำหนดวันประชุมวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ศาลากลางจังหวัดเลย (ปภ.,อปภ.และ คปภ.)

และ มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ติดตามเรื่องการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยจากช้างป่ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตร, สหกรณ์การเกษตรและกองทุนหมู่บ้าน เร่งให้หน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าฯ 9 โครงการ 26 กิจกรรม





                       


 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.