เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ตร.เร่งสอบ 700 ร้านเข้าข่ายโกง "คนละครึ่ง" พร้อมจับคนทุจริต


18 ธ.ค. 2563, 16:07



ตร.เร่งสอบ 700 ร้านเข้าข่ายโกง "คนละครึ่ง" พร้อมจับคนทุจริต




วันที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปัญญา​ ปิ่นสุข​ รอง​ ผบช.ก. นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมายธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีตรวจสอบพบการทุจริตในโครงการคนละครึ่ง

เบื้องต้น พบการกระทำผิด 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ประชาชนผู้มีสิทธิ์ฯ ร่วมมือกับร้านค้าคนละครึ่ง โดยไม่ต้องซื้อขายสินค้ากันจริง เมื่อรัฐบาลโอนเงิน 150 บาทให้ร้านแล้ว ทางร้านค้าก็จะโอนเงินโดยตรงผ่านทาง Mobile banking /ATM หรือ เงินสดให้ประชาชน 90 บาท และหักหัวคิวไว้ 60 บาท



ส่วนรูปแบบที่ 2 จะมีเจ้ามือทำหน้าที่เป็นนายหน้า หาประชาชนที่ต้องการแลกเงิน และหาร้านค้าเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กัน โดยประชาชนจะให้ข้อมูลการ Login เข้าแอปพลิเคชั่นเป๋าตังแก่ร้านค้า เพื่อใช้สิทธิคนละครึ่งแทน โดยไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริง และเมื่อรัฐบาลโอนเงิน 150 บาทให้ร้านค้า เจ้ามือหรือนายหน้าก็จะได้รับเงินค่าหัวคิว 30 บาท และโอนเงินผ่านทาง mobile banking /ATM /หรือ เงินสดให้กับประชาชน 90 บาท ส่วนร้านค้าได้เงิน 30 บาท


ขณะนี้พบผู้ต้องหาที่กระทำผิดชัดเจนแล้ว 4 ราย พฤติการณ์เป็นแบบเจ้ามือ และรู้จักกันผ่านกลุ่มโครงการคนละครึ่งในโซเชียลมีเดีย โดยได้โฆษณาชักชวนประชาชนผู้มีสิทธิ์โครงการคนละครึ่งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ให้มาแลกรับเงินจากเจ้ามือ โดยไม่ต้องมีการซื้อขายสินค้า ซึ่งร้านค้าผู้กระทำผิด อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่มีธุรกรรมต้องสงสัย โดยมีการสแกนใช้สิทธิ์จากประชาชนหลายรายที่มีภูมิลำเนาและที่อยู่ปัจจุบันห่างไกลมาก เช่น จ.เชียงใหม่ และจ.สงขลา เจ้าหน้าที่จึงได้ระงับการใช้แอปพลิเคชั่นถุงเงินของร้านค้า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมได้เรียกสอบปากคำประชาชนอีก 14 คน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศที่นำข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับรหัสเข้าแอปพลิเคชั่นเป๋าตังส่งให้กับร้านค้าผู้กระทำความผิด   

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 วันที่ผู้ต้องหา 4 รายกระทำทุจริต พบว่า มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ที่ร้านค้าดังกล่าวรวม 800 คน เป็นประชาชนที่เข้าข่ายร่วมกระทำความผิด 200 คน โดยรัฐได้โอนเงินให้กับร้านค้าผู้กระทำผิดไปแล้วกว่า 220,000 บาท ในจำนวนนี้มีทั้งการซื้อ-ขายแบบสุจริต และการกระทำทุจริตโดยลูกชายของเจ้าของร้านค้า ซึ่งให้การรับสารภาพใช้ความรู้จากการเรียนจบด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ ไปร่วมมือกับเจ้ามือหรือนายหน้า ซึ่งได้รับเงินส่วนต่างจากการกระทำผิดไปเกือบ 10,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อหาฉ้อโกง และข้อหาฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ทำให้รัฐเป็นผู้เสียหาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เผยอีกด้วยว่า ขณะนี้ยังพบเบาะแสร้านค้าที่เข้าข่ายทำผิดอีกกว่า 700 ราย ข้อหาฉ้อโกง ซึ่งตำรวจจะเร่งตรวจสอบและสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินคดีผู้กระทำผิดต่อไป พร้อมฝากเตือนประชาชน คดีฉ้อโกงมีอายุความนานถึง 10 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนคดีฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากพบว่าเป็นการกระทำผิดหลายกรรม หลายวาระ โทษก็จะหนักขึ้นมากขึ้น 

ส่วนความคืบหน้า การสอบสวนดำเนินคดีในโครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า ตำรวจกองปราบ และ ตำรวจท่องเที่ยว อยู่ระหว่างลงพื้นที่เก็บพยานหลักฐาน คาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถสรุปคดีได้ หากพบเป็นเป็นคดีฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น จะออกหมายจับ ส่วนคดีฉ้อโกงจะออกหมายเรียก เนื่องจากมีอัตราโทษหนักเบาไม่เท่ากัน.






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.